เทคโนโลยีการศึกษา...ตายแล้ว?

 

อ่านชื่อเรื่องแล้วอย่าเพิ่งตกอกตกใจหรือคิดไปอื่นไกล และอย่าหาว่าข้าพเจ้าดูถูกดูแคลนวิชาชีพ หรือลบหลู่ครูบาอาจารย์ในศาสตร์ที่ข้าพเจ้าใช้ทำมาหากินในช่วงสั้นๆ ของชีวิตในวัยเรียน หากแต่ข้าพเจ้าอยากให้ท่านได้ตระหนักถึงคำกล่าวที่ว่า

"ในอดีต ความรู้ที่มีอยู่ในโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ทำให้การไม่เป็น"นักเรียน" (ของครู) จึงไม่ส่งผลร้ายมากจนเกินไปนัก เช่น คนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกอาจใช้ความรู้ที่ตนสะสมมาไปได้สักสิบกว่าปี จึงพบว่าวิชาการได้ก้าวหน้าต่อไปจนไม่เหลือภูมิความรู้เดิมแล้วแต่ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางวิชาการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก คนที่จบปริญญาเอกมาเพียง ๓-๔ ปี หากไม่หมั่นฝึกฝนค้นคว้าหรือทำวิจัยเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมก็จะพบว่าตนเองเป็นคนที่ล้าหลังทางวิชาการทันที และเมื่อนำไปสอนผู้เรียนก็จะไม่สามารถนำไปใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้" (ศ.ดร. เกรียงศักดิ์  เจิรญวงศ์ศักดิ์, การศึกษา 2000, ฉ ๒๘, ๑๕-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒)

และใครที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับตัวเองด้วย มิเช่นนั้นหากฝืนไม่ยอมรับความจริงดังกล่าว และยังทะนงตนไม่แสวงหา สุดท้ายก็จะพบทางตัน มิหนำซ้ำยังพลอยพาวิชาชีพของตนเองเสียหายไปด้วย ซึ่งข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงต่อไป

เทคโนโลยีพัฒนาไปรวดเร็วมาก และเราเองในฐานะผู้ใช้ก็ยากที่จะตามให้ทั้งทุกศาสตร์ทุกเรื่องไป ในบทความนี้ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงในแง่ของเทคโนโลยีการศึกษาเป็นสำคัญ

ใครก็ตามที่อยู่ในแวดวงนี้คงไม่ต้องอธิบายขยายความมากว่าเทคโนโลยีการศึกษาคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร โดยท่านสามารถหาอ่านได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ตหรือจะอ่านบทความที่ข้าพเจ้าเคยเขียนไว้เมื่อ ๙ ปีที่แล้วก็ได้ในเรื่อง เทคโนโลยีการศึกษา ความหมายและความเป็นมา

ทำไมถึงตั้งชื่อเรื่องว่า "เทคโนโลยีการศึกษาตายแล้ว?" เนื่องจากข้าพเจ้านึกถึงหนังสือหรือบทความที่ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยตายแล้ว" อันเนื่องมาจากในช่วงหนึ่งยุคหนึ่ง ความรู้หรือปัญญาชนจากมหาวิทยาลัยไม่สามารถช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้สังคมได้ ซึ่งทุกวันนี้ข้าพเจ้าก็ไม่แน่ใจว่าในปัจจุบันยังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า

นี่เป็นเหตุที่ข้าพเจ้าได้เขียนบทความเรื่องนี้ เพราะข้าพเจ้ากำลังคิดไปเองว่า "เทคโนโลยีการศึกษา" หรือ "นักเทคโนโลยีการศึกษา" ยังมีบทบาทกับการศึกษาอยู่หรือไม่

ข้าพเจ้าเองผ่านประสบการณ์ด้านโสตทัศนศึกษาก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเทคโนโลยีการศึกษาในแง่ของการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้นั่นคือเรื่องของการผลิตสื่อเสียมากกว่า

เป็นที่ถกเถียงกันว่าบทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษานั้นเน้นที่ "สื่อ" ที่จับต้องได้ หรือเน้นที่ "ระบบ" ที่นำมาปรับประยุกต์ใช้

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปบทบาทของเทคโนโลยีการศึกษาควรจะเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนจะยึดตัวสื่ออันเป็นรากของเทคโนโลยีการศึกษาหรือยึดระบบ หรือจะพัฒนาควบคู่กันไป

นึกย้อนหลังกลับไปสัก ๑๐ ปี กระบวนการผลิตนักเทคโนโลยีการศึกษาในระดับบัณฑิตก็ยังแนบแน่นอยู่กับการผลิตเป็นสำคัญ และเป็นไปในรูปแบบของสื่อ analog เช่น กล้องใช้ฟิล์ม, เขียนแผ่นใส, ทำสไลด์ประกอบเสียง, ทำวีดิทัศน์ประกอบการสอน, บัตรคำ, โปสเตอร์ ฯลฯ ซึ่งเครื่องมือต่างๆ นั้นล้วนแยกกันเป็นเอกเทศทั้งสิ้น

เราต้องเรียนการถ่ายภาพ, ผสมน้ำยาล้าง-ขยายภาพ, เขียนแผ่นใสด้วยลีรอย, เขียนบัตรคำด้วยปากกาสปีดบอล, วาดหรือเขียนโปสเตอร์เอง, ถ่ายทำวีดิทัศน์และตัดต่อด้วยเครื่องตัดต่อราคาแพง กระบวนการผลิตเหล่านี้เองที่นักโสตทัศนศึกษาหรือนักเทคโนโลยีการศึกษาได้ฝากผลงานไว้ในอดีต

ปัจจุบัน ปัจจัยการผลิตสื่อทั้งหมดถูกหลอมรวมอยู่ในเครื่องมือไม่กี่ชิ้น และที่สำคัญคือเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งคอมพิวเตอร์เครื่องธรรมดาๆ ในปัจจุบันผนวกกับเว็บแคมเล็กๆ ตัวหนึ่ง ก็สามารถใช้ถ่ายทอดสดในการเรียนการสอนได้แล้ว

บทบาทการผลิตสื่ออันเป็นหัวใจสำคัญของนักเทคโนโลยีการศึกษา ไม่ได้ถูกจำกัดแค่นักเทคโนโลยีการศึกษาอีกแล้ว ในเมื่อเด็กชั้นประถมก็สามารถทำสื่อทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้

ถึงแม้ว่ามีบางส่วนจะอ้างว่า นั่นไม่ใช่บทบาทหรือหน้าที่ของนักเทคโนโลยีการศึกษา แล้วบทบาทที่แท้จริงคืออะไร

เป็นที่ยอมรับว่าการผลิตสื่อ การสร้างสื่อ กับนักเทคโนโลยีการศึกษานั้นแยกกันไม่ออก ในเมื่อไม่แสดงตัวตนให้เป็นที่ยอมรับ ไม่สามารถตอบสนองโจทย์ทางการศึกษาได้ บทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษากับการศึกษาจึงลดน้อยถอยลงตามลำดับ

กับคำกล่าวที่ว่า "ถ้าหากเราย่ำอยู่กับที่ แต่คนอื่นเดินไปข้างหน้า ก็เหมือนกับเราถอยหลังนั่นเอง" น่าจะนำมาใช้กับแวดวงเทคโนโลยีการศึกษาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นของไทยและต่างประเทศ

กระแสของสื่อการเรียนการสอนที่ทุกคนยอมรับในทุกวันนี้ก็คือ การเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ E-learning ซึ่งต้องอาศัยความรู้และทักษะด้านคอมพิวเตอร์พอสมควร ในความเห็นของข้าพเจ้า ไม่เพียงแต่ต้องเรียนรู้เครื่องมือที่เป็นฮาร์ดแวร์เท่านั้น นักเทคโนโลยีการศึกษาจำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษาด้านซอฟต์แวร์ควบคู่กันไปด้วย

นักเทคโนโลยีการศึกษาที่ดีต้องไม่เก่งแต่ท่องตำราและทฤษฎีทางเทคโนโลยีการศึกษาเท่านั้น ความรู้ใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ควรต้องศึกษาและเรียนรู้ไปด้วย

ข้าพเจ้าอยากยกตัวอย่างเรื่องของ "ระบบ" ที่นักเทคโนโลยีการศึกษากล่าวถึง จากความรู้งูๆ ปลาๆ ของข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องระบบก็คือ มี การนำเข้า-การดำเนินการ-และผลที่ได้

เหมือนกับระบบของรถยนต์ ที่ใช้การนำเข้าต่างกัน เช่น ใช้น้ำมันเบนซิน, ดีเซล หรือก๊าซโซฮอลล์ เพื่อไปทำให้เกิดการเผาไหม้เป็นผลให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนไปได้

หากเปรียบเทียบกับบทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษาควรจะอยู่ตรงไหน จำเป็นต้องเรียนรู้ระบบเครื่องยนต์กลไกหรือไม่ หรือรู้แค่ว่ารถประเภทไหนใช้น้ำมันชนิดไหนก็พอ

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป มีการพัฒนารถยนต์ให้หันมาใช้ก๊าซ NGV, ก๊าซ LPG แทนพลังงานจากซากฟอสซิลซึ่งมีราคาแพง และเครื่องยนต์รอบต่ำเช่นเครื่องยนต์ทางการเกษตรก็หันไปใช้น้ำมันไบโอดีเซล

ประเทศที่เทคโนโลยีทันสมัยก็อาจหันไปใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์หรือพลังงานไฟฟ้า

หากข้าพเจ้ายกตัวอย่างไม่ถูกต้อง ก็ต้องขออภัยในความเบาปัญญาของตัวเองด้วย

โลกของการศึกษาเปลี่ยนไป แนวคิดและการพัฒนาการของมนุษย์ก็เปลี่ยนไป นักเทคโนโลยีการศึกษาก็ต้องวิวัฒนาการตัวเองให้ทันโลกของการศึกษาเช่นกัน

โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาผ่านเครือข่าย ซึ่งมีทั้งแบบผ่านสายและไร้สาย แบบธรรมดาและแบบความเร็วสูง หากเปรียบเทียบกับรถยนต์แล้วก็เหมือนการใช้พลังงานที่แตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์ก็คือเราต้องการให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ ควบคู่ไปกับการเป็นคนดี มีคุณธรรม สามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

หากเราไม่ขวนขวายที่จะเรียนรู้ระบบเครื่องยนต์กลไก เรียนรู้การใช้พลังงานที่ถูกต้องเหมาะสม แล้วเราจะขับเคลื่อนยานพาหนะของเราให้ดีไปได้อย่างไร

ข้าพเจ้าถึงได้เปิดประเด็นนี้ขึ้นมาว่า "เทคโนโลยีการศึกษา...ตายแล้ว?" เพื่อให้เราได้อภิปรายถกเถียงกันในวงกว้าง ทั้งนี้ข้าพเจ้าอยากให้คนรุ่นหลังๆ ที่สนใจและใฝ่ใจที่ศึกษาในศาสตร์นี้ ได้มีที่ยืนเพื่อแสดงตัวตนอย่างทระนงบ้าง

ข้าพเจ้ายังรักและศรัทธากับศาสตร์ทางด้านโสตทัศนศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษาและกราบขอบ
พระคุณบูรพคณาจารย์ทุกท่านที่ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้กับข้าพเจ้า จนกระทั่งมีที่ยืนในสังคม

และปณิธานของข้าพเจ้าก็คือจะต้องทำให้ศาสตร์ด้านเทคโนโลยีการศึกษา เป็นที่ยอมรับและถือเป็นวิชาชีพให้ได้ ทั้งนี้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีกำลังใจและพัฒนาศาสตร์ด้านนี้ เพื่อการศึกษาไทย เพื่อสังคมไทย และประเทศไทย ต่อไป

 

Homepage

guestbook.jpg (2547 bytes)

œลงนามสมุดเยี่ยม : SignGuest book
created by.
กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙