รักบ้านรักเมืองไทย รักษาไว้ด้วยวัฒนธรรม
เสริมสร้างและกล่าวย้ำ ให้สมค่าความเป็นไทย (๑)

     
 

...มนุษย์ทุกสังคมที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ล้วนแต่มีวัฒนธรรมของตนเองทั้งสิ้น เพราะ
วัฒนธรรมก็คือวิถีชีวิตหรือแบบแผนในการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ซึ่งเกิดจากความรู้ ความคิด และผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ได้สืบทอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่องกันมาเพื่อเป็นมรดกทางสังคมไปสู่คนรุ่นหลังเพื่อให้รักษาไว้สืบไป

คำว่า "วัฒนธรรม" มีความหมายกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งนัก และตำราเกี่ยวกับความหมายและลักษณะต่างๆ ของคำว่าวัฒนธรรมนั้นได้มีผู้เรียบเรียงไว้มากมาย ดังนั้นก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวกับหัวข้อ "วัฒนธรรมไทย" ให้ตรงตามหัวข้อคือ "รักบ้านรักเมืองไทย รักษาไว้ด้วยวัฒนธรรม เสริมสร้างและกล่าวย้ำ ให้สมค่าความเป็นไทย" เราควรจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าวัฒนธรรมเสียก่อน

"วัฒนธรรม" ถอดรากศัพท์มาจาก "Culture" ของภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า "Cultura" ในภาษาละติน มีความหมายว่า การเพาะปลูกหรือการปลูกฝัง อธิบายได้ว่ามนุษย์เป็นผู้ปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้เกิดความเจริญงอกงาม และ "วัฒนธรรม" เป็นคำสมาส คือการรวมคำ ๒ คำเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ "วัฒนะ" ซึ่งมีความหมายทั่วไปว่า เจริญงอกงาม รุ่งเรือง "ธรรม" ในที่นี้หมายถึง กฎ ระเบียบ หรือข้อปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงคำว่า "วัฒนธรรม" ในความหมายโดยทั่วไป หมายถึง ความเป็นระเบียบ ความมีวินัย

ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำวัฒนธรรมไว้ว่า "สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ วิถีชีวิตของหมู่คณะ" และพระราชบัญญัติวัฒนธรรมพุทธศักราช ๒๔๘๕ ว่า หมายถึง "ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทางวิทยาการพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างด้วยการเรียนรู้จากกันและร่วมใช้อยู่ในหมู่ของพวกตน"

วัฒนธรรมในด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยานั้น หมายถึง บรรดาผลงานและแบบแผนในการดำเนินชีวิตทั้งมวลของมนุษย์ ซึ่งสามารถจำแนกได้ออกเป็น ๒ ประเภทคือ วัฒนธรรมทางวัตถุ เป็นวัฒนธรรมที่มองเห็นได้ จับต้องได้ หรือประดิษฐ์คิดค้น สร้างหรือปรุงแต่งขึ้นเพื่อเป็นแบบอย่างให้คนในสังคมได้ใช้ประโยชน์ตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์หรือเพื่อความสุขความสะดวกสบาย เช่น หม้อหุงข้าว จอบ เสียม มีด พร้า เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือวัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นความเข้าใจ ความเชื่อ ความคิด ตลอดจนอุดมการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น มีความเชื่อเรื่องบุญกรรม มีความคิดหรือหลักการ การเคารพผู้อาวุโส ฯลฯ เป็นต้น

จากการที่กล่าวมาหากจะสรุปความหมายของคำว่าวัฒนธรรม น่าจะได้ความหมายตามที่พระยาอนุมานราชธนผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางวัฒนธรรมกล่าวไว้ ดังนี้
"วัฒนธรรม คือสิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงปรับปรุงหรือผลิตขึ้น เพื่อความงอกงามในวิถีชีวิตมนุษย์ในส่วนรวมที่ถ่ายทอดกันได้ เลียนกันได้ เอาอย่างกันได้ วัฒนธรรมคือสิ่งอันเป็นผลผลิตของส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนแต่ก่อนสืบเป็นประเพณีกันมา วัฒนธรรมคือการคิดเห็น ความรู้สึก ความประพฤติและกิริยาอาการ หรือการกระทำใดๆ ของมนุษย์ในส่วนรวม ลงรูปเป็นพิมพ์เดียวกัน และสำแดงออกมาให้ปรากฏในภาษาเป็นภาษา ศิลปะ ความเชื่อ ระเบียบ ประเพณี เป็นต้น วัฒนธรรมคือมรดกแห่งสังคมรับและรักษาไว้ให้เจริญงอกงาม" 

 

หน้าถัดไป

 
 

ด้วยจิตคารวะ

 


คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครับ

created by.
กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 
๒๐ เม.ย.  ๒๕๔๘

-ค