คนไทยและวัฒนธรรมไทย
สังคมไทย
โดยรวมเป็นสังคมเกษตรมาตั้งแต่แรกเริ่มที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง
แต่การพูดถึงวัฒนธรรมไทย เราไม่อาจพูดได้อย่างรวมๆ
เนื่องจากถ้าพิจารณาในด้านความแตกต่างทางด้านสภาพภูมิศาสตร์แล้ว
จะเห็นว่าแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ในขณะที่ภาคเหนือหรือ "เมืองล้านนา"
พื้นที่เกือบจะทั้งหมดเป็นเทือกเขาที่มีที่ราบใหญ่-น้อย สลับกัน
และยังมีแม่น้ำสำคัญๆ หลายสายไหลผ่าน
จากการที่อยู่กับขุนเขาและสายน้ำมานาน ทำให้เกิดการเรียนรู้
และมีภูมิปัญญาในการจัดการกับน้ำเพื่อมาเลี้ยงไร่นาและผู้คนได้เป็นอย่างดี
และที่สำคัญคือการรู้จักคุณค่าของธรรมชาติที่มีต่อการดำรงชีวิต
คนในแถบนั้นจึงสามารถสร้างบ้านแปลงเมืองก่อให้เกิดการพัฒนาทางวัฒนธรรมขึ้นมา
วัฒนธรรมล้านนาจึงบังเกิดมีขึ้น
ส่วนภาคกลางกลับเป็นที่ราบลุ่มและเป็นศูนย์รวมของแม่น้ำหลายสายที่มาบรรจบกันเพื่อไหลลงสู่ทะเล
คนไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จึงมีความใกล้ชิดกับน้ำ
สามารถรู้จังหวะลีลาน้ำขึ้นน้ำลง น้ำท่วม หรือน้ำหลากตามฤดูกาล
จึงปรับวิถีการดำรงตนให้เข้ากับสายน้ำ
กอปรกับพื้นที่ในแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์กว้างใหญ่
อันเนื่องมาจากการทับถมของตะกอนที่มาพร้อมกับสายน้ำ
ทำให้กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำหรับเลี้ยงคนได้เป็นจำนวนมาก
วัฒนธรรมกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในผืนดินถิ่นนี้
สำหรับภาคอีสานนั้น มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง
พื้นที่มีบริเวณกว้างใหญ่ทั้งบริเวณชายเขา ริมน้ำ
และทุ่งราบอันแห้งแล้ง
คนอีสานจึงเรียนรู้และสร้างภูมิปัญญาในการเลือกถิ่นฐานทำกิน
รวมทั้งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความแห้งแล้ง
ความมีน้ำอดน้ำทนของคนอีสานได้สร้างวัฒนธรรมอันหลากหลาย ณ
ดินแดนลุ่มน้ำโขงแห่งนี้
และสำหรับดินแดนภาคใต้ ดินแดนที่ถูกขนาบด้วยสองฝั่งทะเล
ขณะเดียวกันก็มีที่ราบชายทะเล ทำให้คนปักษ์ใต้สามารถทำการเกษตร
การประมง
และมีการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเมืองชายทะเลบริเวณใกล้เคียงได้อย่างสะดวก
คนปักษ์ใต้จึงมีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพยากรที่หลากหลายวัฒนธรรมในดินแดนแห่งนี้จึงมีลักษณะแตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตน
อย่างไรก็ตาม คนไทยทุกภาคก็มีคุณลักษณะและหัวใจของความเป็นไทย
ทำให้มีจุดร่วมระหว่างวัฒนธรรมของคนไทยแต่ละกลุ่ม ด้วยเหตุนี้
เราจึงสามารถเรียกวัฒนธรรมของคนไทยทุกกลุ่มที่อาศัยอยู่บนดินแดนขวานทองเล่มนี้
"วัฒนธรรมไทย" ได้อย่างภาคภูมิ
|