รักบ้านรักเมืองไทย รักษาไว้ด้วยวัฒนธรรม
เสริมสร้างและกล่าวย้ำ ให้สมค่าความเป็นไทย (๔)

     
 

ภาษาไทย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คนไทยจึงได้รับมรดกทางวัฒนธรรมทางภาษาที่มีประวัติอันยาวนาน แสดงความเป็นชาติที่เจริญมาแต่ครั้งอดีตกาล และมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติที่มีภาษาเป็นของตนเอง แม้แต่ประเทศมหาอำนาจบางประเทศก็ยังหามีตัวอักษรของตนเองไม่ การมีภาษาประจำชาติเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยหล่อหลอมให้คนในชาติอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง

ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลักษณะเด่นที่สำคัญหลายประการ อาทิ เป็นคำที่มักมีพยางค์เดียวหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคำโดด โดยที่คำแต่ละคำนั้นมีความหมายในตัวเอง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง กิน นอน ตื่น ฯลฯ เป็นต้น อีกทั้งคำคำเดียวอาจจะมีความหมายแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวางตำแหน่งของคำ เช่น "ขัน" อาจหมายถึงอาการหัวเราะหรือภาชนะที่ใช้สำหรับตักน้ำ หรืออาจจะหมายถึงการโก่งคอขันของไก่ นอกจากนี้ การเรียงลำดับของคำของประโยคเดียวกันในตำแหน่งต่างกัน อาจทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น "ให้ใครมาหา" ถ้าเรียงคำใหม่ "ให้มาหาใคร" ความหมายก็จะเปลี่ยนไปทันที ลักษณะสำคัญของภาษาไทยที่เป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งคือเป็นภาษาที่สร้างคำขึ้นตามระบบเสียงธรรมชาติของมนุษย์ มีระบบเสียงสูงต่ำโดยใช้วรรณยุกต์เป็นตัวกำกับเสียง กล่าวคือ เสียงหนึ่งเสียงมีความหมายหนึ่ง หากเปลี่ยนเสียงเปลี่ยนความหมายก็จะเปลี่ยนไปด้วย ดังตัวอย่าง "ดิน" กับ "ดิ้น", "ลา" กับ "ล่า" หรือ "ก่อน" กับ "ก้อน" เป็นต้น ทำให้ภาษาไทยได้ชื่อว่าเป็นภาษาดนตรี อันเนื่องมาจากความงดงาม ความไพเราะของจังหวะจะโคนทางภาษา และภาษาไทยยังมีลักษณะพิเศษอีกบางประการ อาทิ มีระดับของคำหรือศักดิ์ของคำที่ใช้ให้เหมาะแก่บุคคล กาละ เทศะ การใช้คำราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ มีการใช้ลักษณนามกับสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกันมากมาย

การมีภาษาประจำชาติเป็นของตนเองผนวกกับความเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต เจ้าสำบัดสำนวนของคนไทย ภาษาไทยจึงสร้างกวีและนักเขียนอย่างมากมาย โดยบรรพชนเหล่านั้น ได้ใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือแสดงความรู้สึกนึกคิดจากการเก็บเอาสิ่งที่เคยพบเห็นหรือคุ้นเคย ด้วยถ้อยคำที่สะท้อนอารมณ์ออกมาในแง่มุมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเศร้าโศก ดีใจ เสียใจ หัวเราะ ร้องไห้ คนไทยสามารถใช้ภาษาไทยรจนาอารมณ์เหล่านั้นออกมาได้อย่างวิจิตรบรรจงทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง ดังบทประพันธ์ที่จะขอนำมากล่าวถึง ดังนี้

"อันรสของภาษาไทยใช่อวดอ้าง
ไทยสรรสร้างวรรณกรรมนำสุขศรี
รสสุนทรชวนใจให้เปรมปรีดิ์
โวหารมีนานาน่าพินิจ
ฉันทลักษณ์ของไทยพิไลเลิศ
ได้ก่อเกิดงานประพันธ์วรรณวิจิตร
เร้าอารมณ์สะเทือนใจให้ยั่วคิด
มีคติชีวิตจรรโลงใจ
เอกลักษณ์ภาษาไทยยังไม่ถ้วน
ขอเชิญชวนมิตรคลี่คลายหายสงสัย
หมั่นสังเกตเหตุวิเคราะห์เสาะหาไป
ประมวลไว้เป็นความรู้ชูชาติเอย"

(ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์  นาครทรรพ)

และงานสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรมเมื่อครั้งอดีตกาลได้กลายเป็นมรดกทางภาษาอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้มอบให้ลูกหลานชาวไทยจนกระทั่งทุกวันนี้ อาทิ บทเสภาขุนช้างขุนแผน สังข์ทอง พระอภัยมณี บทพระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ เรื่องรามเกียรติ์ บทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เรื่องเงาะป่า และบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เรื่องอิเหนา ฯลฯ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าความสามารถด้านภาษาของคนไทยมีตั้งแต่ชั้นเจ้าฟ้าเจ้าปกครองจนถึงสามัญชนคนธรรมดา โดยเฉพาะกวีท่านหนึ่งของไทยในอดีตถึงกับได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ซึ่งเป็นองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติให้เป็นถึง "กวีเอกของโลก" ซึ่งกวีที่ประกาศศักดาแห่งความเป็นไทยและนำความภาคภูมิใจมาสู่ลูกหลานไทยท่านนั้นคือ "พระสุนทรโวหาร" หรือ "สุนทรภู่"

อนึ่ง นอกจากพระปรีชาสามารถด้านภาษาของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตแล้ว องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันทรงแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยาภาพทางภาษาและวรรณกรรมของพระองค์ โดยพระราชนิพนธ์วรรณกรรมอันล้ำค่ามอบแก่พสกนิกรของพระองค์ คือ "นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ" และ "พระมหาชนก" เพื่อให้คนไทยได้ยึดเป็นแนวปฏิบัติในเรื่องความกล้าหาญและความเพียร ยังความปลาบปลื้มมาสู่คนไทยทุกหมู่เหล่า และยังเป็นการเน้นให้เห็นว่าภาษาไทยเป็นของคนไทยทุกคน

เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของภาษาไทยคือตัวอักษรไทย ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาจากอักขระพราหม์และอักษรขอมมาเป็นลายสือไทย ใช้เขียนภาษาพูดของไทย และในขณะเดียวกันก็จะมีหน่วยเสียง (phoneme) และระบบการผสมอักขระที่สามารถเขียนภาษาขอม ภาษาบาลี สันสกฤต และภาษาอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันภาษาไทยมีการผสมอักษรและหน่วยเสียงที่ใช้ถ่ายทอดภาษาได้ทุกภาษาของโลก

จากที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่องของภาษาไทย จะเห็นได้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นชาติไทยได้เป็นอย่างดี คนไทยทุกคนจึงควรภูมิใจในการที่ประเทศไทยใช้ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติมากว่า ๗๐๐ ปี ดังจะขออัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในพิธีพระราชทานรางวัลการประกวดทำนองเสนาะของกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ใจความตอนหนึ่งว่า

"ภาษา นอกจากจะเป็นเครื่องมือแสดงสื่อสารแสดงความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วโลกแล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นวัฒนธรรม อารยธรรม และเอกลักษณ์ประจำชาติอีกด้วย ไทยเป็นอารยประเทศประเทศหนึ่งซึ่งมีขนบประเพณี ศิลปกรรม วรรณคดี และภาษาที่รุ่งเรืองมาแต่อดีตกาล เราผู้เป็นอนุชนจึงควรภูมิใจ ช่วยกันผดุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่บรรพบุรุษได้อุตส่าห์สร้างสรรค์ขึ้นไว้ให้เจริญสืบไป"

 
 
หน้าก่อนหน้า  

หน้าถัดไป

 


คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครับ

created by.
กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 
๒๐ เม.ย.  ๒๕๔๘

-ค