จินตนาการของผมเมื่อ ๑๕ ปีก่อน สมัยอยู่ ม.๓ (ประมาณปี ๒๕๒๖) มีหนังสือกีฬา&การ์ตูน
ฉบับการ์ตูนสงคราม
ได้ให้ผู้อ่านลองส่งสิ่งประดิษฐ์ในจินตนาการไปประกวดกันขณะนั้นที่บ้าน
ผมมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดคือเครื่องคิดเลขอันเล็กๆ ของพ่อแค่นั้น(ก่อนนั้นใช้ลูกคิด) ผมทึ่ง
กับมันที่ว่าทำไมมันกดตัวเลขแล้วมันบวก ลบ คูณ หาร กันได้ (สมัยนั้นแถวบ้านผมยังไม่มีใครรู้
จักกับคอมพิวเตอร์ ทีวียังดูขาวดำ ระบบหมุนเปลี่ยนช่องอยู่) และผมมีความอึดอัดใจที่จะต้องเปิด
ดิกชันนารีฉบับกระเป๋าเพื่อแปลภาษาอังกฤษเวลาทำการบ้าน ผมเลยออกแบบสิ่งประดิษฐ์
ในจินตนาการไปคือ "ดิกชันนารีแบบกดตัวอักษรแล้วมันแปลให้เลย" ครั้งนั้นสิ่งประดิษฐ์ของผม
ได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือ และได้รางวัลเป็นเครื่องบินพลาสติกจำลอง....

ถัดมาเกือบๆ จะ ๑๐ ปี ขณะที่ผมกำลังหาหนังสืออยู่ที่ร้านดอกหญ้าหน้ามหาวิทยาลัย
รามคำแหงผมเห็นแผ่นพับเล็กๆ ใบหนึ่งโฆษณาเกี่ยวกับ ดิกชันนารีแบบกด ผมหยิบมันขึ้นมา
อ่านรายละเอียดรู้สึกขนลุกไปทั่วร่างเลยครับ

 

ผมเพิ่งมาหาต้นฉบับเจอที่แผงหนังสือเก่าสวนจตุจักรด้วยความบังเอิญจริงๆ เมื่อต้น
เดือนมีนาคม 2543 นี่เองครับ ต้องขอขอบคุณ "น้องมะลิ" ที่พาผมเดินหลงทางในสวนจนไปพบ
ต้นฉบับนี้จนได้

ในปี ๒๕๒๗ เช่นกัน ใน นสพ.ไทยรัฐ มีคอลัมน์ถ้าเช่นเป็นนายกรัฐมนตรีจะทำอะไร ตอน
นั้นผมรู้สึกว่าหนังสือพิมพ์ทำไมมีแต่สำหรับผู้ใหญ่ ไม่มีสำหรับเด็กบ้าง ก็เลยส่งแนวคิดในการทำ
นสพ. สำหรับเด็กนี้ไป ก็ได้ลงพิมพ์อีก ผมได้รางวัลเป็นหนังสือเล็กๆ เล่มหนึ่ง และหลังจากตี
พิมพ์ไปเกือบๆ ๑๐ ปี ผมก็เห็นนสพ.เสียงเด็ก (ไม่แน่ใจว่าชื่อถูกหรือเปล่า) นั่นเป็นจินตนาการ
ตอนเด็กที่เป็นจริงของผม (เพิ่งไปหาต้นฉบับเจอที่หอสมุดแห่งชาติ)

นสพ.ไทยรัฐ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๗ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๒ ปีกุน
หน้า ๘.

    ถ้าฉันเป็นนายกรัฐมนตรี   

    ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ส่วนมาแทบจะทุกเล่ม ชอบลงข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรม
ต่างๆ ทำให้เยาวชนหลายคนอยากดังเหมือนข่าวจึงทำตามบ้าง ถ้าผมได้เป็น
นายกรัฐมนตรี ผมจะให้มีการจัดทำหนังสือพิพม์เพื่อเยาวชนขึ้นมา ในเล่มก็จะ
ให้มีข่าวเกี่ยวกับผลงานของเยาวชน เช่น ในการกีฬา การเรียน การประดิษฐ์ 
เป็นต้น ซึ่งเมื่อเยาวชนอ่านแล้วก็อยากมีผลงานไปในแนวทางที่ดี ส่วนหนังสือ
พิมพ์ที่จะจัดทำ ผมจะให้เป็นหนังสือชื่อว่า “จากนายกรัฐมนตรีถึงเยาวชน”
ถ้าไทยรัฐทำก็จะใช้ชื่อว่า “ไทยรัฐเพื่อเยาวชน”

ดช.จักรพงษ์ เจือจันทร์
อายุ ๑๔ ปี ม.๓/๑ โรงเรียนสุรวิทยาคาร อ.เมือง จ.สุรินทร์ ๓๒๑๑๐

(ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติที่กรุณาให้ผมค้นจนเจอครับ)

 

มาเข้าเรื่องของเราดีกว่าครับ (เดี๋ยวจะหาว่าผมโม้มากไป)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อการเรียนการสอน โสตทัศนูปกรณ์รวมทั้งเทคโนโลยีอันทันสมัยใน
ปัจจุบันล้วนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้กระบวนการสอน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งงานวิจัย
หลายชิ้นได้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของสื่อหลากประเภทได้เป็นอย่างดี

นโยบายของการศึกษาในปัจจุบัน ได้มีแนวคิดที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยลดบทบาท
ของครูให้เป็นผู้ชี้แนะแนวทาง แต่เราก็ต้องยอมรับอีกว่ายังครูอีกหลายคนทั่วประเทศยังไม่เข้าใจ
ว่าการให้เด็กเป็นศูนย์กลางนั้นกระทำกันอย่างไร
เคยได้ยินมาว่า ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ก็ให้
เด็กไปนั่งรวมกันกลางห้อง ก็สิ้นเรื่อง (เป็นเรื่องขำที่ขำไม่ออก) เร็วๆ นี้ผมได้ยินมาว่า "เด็กเป็น
ศูนย์กลาง แต่ครูเป็นเส้นรอบวง"
เป็นอย่างนั้นไปอีก...

นักวิชาการศึกษาที่มีประสบการณ์ทราบดีว่า การที่จะให้เด็กเป็นศูนย์กลางนั้น แต่ละโรงเรียน
จะต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน

ในที่นี้ ผมจะขอเน้นเฉพาะด้านสื่อการสอนที่เกี่ยวข้องกับเราซึ่งเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษา
โดยตรงซึ่งความพร้อมและความสมบูรณ์ของสื่อมีส่วนอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจ
และกระตือรือร้นที่จะขวนขวายหาความรู้ตามสติปัญญาของตน

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรทุกโรงเรียนถึงจะมีความพร้อมอย่างเท่าเทียมกัน (ซึ่งเป็นไปได้ยาก)
ในฐานะที่เราเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษาเราลองมาระดมสมองช่วยกันคิดว่าเราควรจะทำอย่างไร

สำหรับผม...ผมมีแนวคิดดังนี้ครับ

ประการแรก

ผมลองนับสถาบันที่เปิดสอนเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีการศึกษา เอาง่ายๆ สถาบันราชภัฏทั่ว
ประเทศ 36 แห่ง
น่าจะเปิดสอนทั้งหมด แต่ละแห่งมีนักศึกษาที่เรียนเป็นวิชาเอกประมาณปีละ
30-40 คน เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 4 ปี รวมแล้วมีนักศึกษา ประมาณ 120-160 คน และ
กลุ่มที่เรียนเป็นวิชาโทอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้นักศึกษาที่เรียนวิชาครูจะต้องเรียนแทบทุกคน
ดังนั้นเราจะมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับด้านนี้ต่อสถาบัน ประมาณ 200-300 คน
ต่อปี ลองเอา 36 คูณเข้าไป
ทั่วประเทศจะมีประมาณ 10800 คนต่อปี

ประการที่สอง

สถาบันที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์
เอาแค่ 15 สถาบันก็พอนะครับ จะมีนิสิตนักศึกษาสถาบันละประมาณ 30-40 คนเช่นกันรวมๆ
แล้วก็ประมาณสถาบันละ 200 คนเช่นกัน 15 สถาบันก็ประมาณ 3000 คน ขอรวมนักศึกษา
จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ที่ประสาทวิชาให้ผม) เข้าไปอีกประมาณ 2000 คน ครับ สรุป
สถาบันสังกัดทบวงก็ 7000 กว่าคน เข้าไปแล้ว นี่ยังไม่นับรวมสุโขทัยนะครับ

ประการที่สาม

สถาบันที่เปิดสอนในระดับมหาบัณฑิตขึ้นไป มีประมาณ 15 สถาบันเช่นเดียวกัน รวมๆ แล้ว
มีนิสิตนักศึกษาที่เป็นนักคิดและนักทฤษฎีราว 400-500 คน

ดังนั้น ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีนักเทคโนโลยีการศึกษาที่เป็นทั้งนักทฤษฎีและนักปฏิบัติ
ที่สำเร็จการศึกษาออกไปหลายพันคนด้วยกัน (เรื่องตัวเลขนั้นเป็นการประมาณการคร่าวๆ 
นะครับ)

บุคคลเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน..

อาจจะเป็นคำถามที่ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไรนัก แต่เราคงทราบกันดีว่าในแต่ละปีๆ นั้นหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะมีอัตราว่างสำหรับบุคคลเหล่านี้น้อยมาก ปีหนึ่งประมาณ10 คน บาง
คนก็ไปทำงานตามหน่วยงานเอกชนบ้าง หรือทำงานที่ไม่ตรงกับที่ตนเองได้ร่ำเรียนมา

เอาละนั่นเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัวของเราเกินไป... ผมไม่แน่ใจว่าแต่ละสถาบันที่เปิดสอนนั้น
มีแนวคิดหรือแนวปฏิบัติในการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักสูตรนี้อย่างไร...เท่าที่ทราบสถาบัน
ราชภัฎต่างๆ ได้มีการรวมตัวกันตามภูมิภาคของตน ส่วนของทบวงนั้นผมไม่ทราบจริงๆ ครับ

วกเข้ามาเรื่องของเราอีก เกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น จะมีอยู่หลายวิชาที่จะต้องให้
นิสิต-นักศึกษา ได้ผลิตสื่อการสอนขึ้นมา ซึ่งตรงนี้นี่เองที่ผมมีความคิดที่ว่า ถ้าสถาบันการศึกษา
ทั้งหมดที่เปิดสอนด้านเทคโนโลยีการศึกษาได้มีการหารือแนวทางในการทำสื่อการสอนพวกนี้ให้
ไปในทิศทางเดียวกัน
หรือทำอย่างไรก็ได้ให้สื่อการสอนพวกนี้มีโอกาสได้ใช้งานจริงมากที่สุดเท่า
ที่จะทำได้ เพราะในการสร้างงานออกมาแต่ละชิ้นต้องใช้เงิน เวลา และความคิดสร้างสรรค์ ค่อน
ข้างมาก แต่พอทำเสร็จแล้วส่ง ได้คะแนน ทุกอย่างก็อาจจะจบอยู่ตรงนั้น

แนวคิดของผม

ถ้าพวกเราได้ใช้ความเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว เราน่าจะได้อะไรดีๆ
มากมายอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึงก็ได้ เช่น

ก่อนเปิดภาคการศึกษาในแต่ละภาค มีตัวแทนของแต่ละสถาบันการศึกษา เข้าร่วมประชุมเพื่อ
กำหนดแนวทางในการเรียนการสอนในปีการศึกษานั้นๆ เอาเรื่องการผลิตสื่อการสอนอย่างเดียว
ก่อนก็แล้วกันครับ สมมติว่าเราระดมสมองผ่านไปได้ด้วยดีแล้วนะครับ ผลออกมาดังนี้

ก่อนเปิดภาคการศึกษาในแต่ละภาค มีตัวแทนของแต่ละสถาบันการศึกษาเข้าร่วมประชุม
เพื่อกำหนดแนวทางในการเรียนการสอนในปีการศึกษานั้นๆเอาเรื่องการผลิตสื่อการสอนอย่าง
เดียวก่อนก็แล้วกันครับ สมมติว่าเราระดมสมองผ่านไปได้ด้วยดีแล้วนะครับ ผลออกมาดังนี้

กลุ่มล้านนารับผิดชอบในการสร้างสื่อการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับประถม

กลุ่มพุทธชินราชก็รับผิดชอบของมัธยมอะไรทำนองนี้ครับ

กลุ่มศรีอยุธยา ก็รับผิดชอบวิชาภาษาอังกฤษระดับประถม

กลุ่มรัตนโกสินทร์ ก็รับผิดชอบวิชาภาษาอังกฤษระดับมัธยม

กลุ่มทวารวดี อาจจะรับผิดชอบวิชา วิทยาศาสตร์ ประถม

กลุ่มทักษิณ อาจจะรับผิดชอบวิชา วิทยาศาสตร์ มัธยม

กลุ่มอีสานเหนือ อาจจะรับผิดชอบวิชา ภาษาไทย มัธยม

กลุ่มอีสานใต้ อาจจะรับผิดชอบวิชา ภาษาไทย ประถม

ส่วนมหาวิทยาลัยในสังกัดทบวง ก็อาจจะทำสื่อที่เป็นเทคโนโลยี เช่น CAI เป็นต้น

 

นี่เป็นเพียงแนวคิด เท่านั้นนะครับ

พอได้แนวคิดตรงนี้แล้ว ก็มากำหนดรูปแบบและมาตราฐานของสื่อที่จะผลิตกันออกมา ว่าจะ
มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เชื่อแน่ว่าถ้าเราร่วมมือกัน มันต้องได้มาตรฐานแน่ๆและจะหมุน
เวียนกันทำไปทุกๆ เทอม ส่วนเทคนิคหรือวิธีการทำ เราอาจจะใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นหรือ
อาจจะมีการระดมทุนจากมวลชนในท้องถิ่นนั้นๆ
เราไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงครับ ผมคิดว่ามัน
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะคิดทำแล้วทำโดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ ใกล้ตัวดีกว่า แต่ถ้าใครมีของที่ดีกว่านั่น 
ก็เป็นการดีและสะดวกในการจะทำอะไรให้มันง่ายขึ้น หลังจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของครูผู้สอน
ที่จะต้องรับนโยบายไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ลูกหากันต่อไป

เมื่อได้สื่อมาแล้วนะครับ รวบรวมเป็นรายวิชา ตามที่ตกลงกันไว้ หาศูนย์รวมที่จะเก็บสื่อพวก
นี้ไว้ (ก็น่าจะเป็นสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นนั้นไปก่อน) แล้วหมุนเวียนกันให้ตามโรงเรียน
ที่ขาดแคลนหรือจำเป็นที่จะต้องใช้ 

ตามหลักการ หลายท่านอาจจะบอกว่า พูดนะใครก็พูดได้แต่ทำนะใครจะทำนั่นสิครับ ถ้าเรา
ไม่ทำแล้วใครจะทำ
(ผมสงสัยว่าทำไมจัดกีฬามหาวิทยาลัย หรือ ราชภัฏเกมส์ ทำไมจัดกันได้
ประชุมกันได้ แถมงบประมาณภาษีประชาชนก็มากมายก่ายกอง พิธีเปิด-ปิดแต่ละครั้ง เอางบไป
สร้างสื่อการสอนดีๆ ได้ตั้งมากมายมหาศาล
ที่กล่าวมานี่ ไม่ได้หมายความว่าผมต่อต้านนะครับ 
เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในความร่วมมือต่างของแต่ละสถาบันนั้นมีมานานแล้ว หากแต่เอา
แนวคิดนี้ไปลองดูก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร)

ผมถึงเกริ่นไว้แต่แรกแล้วว่า เราจะต้องร่วมมือกัน มันคงจะไม่เสร็จวันนี้พรุ่งนี้หรอกครับ
แต่ถ้าเราเริ่มต้นนับหนึ่ง มันต้องถึงสิบ ถึงร้อยแน่ๆ ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าเป็นไปได้จริงๆ แต่ละ
โรงเรียนแต่ละภูมิภาคก็จะมีสื่อการเรียนการสอนใช้เหมือนๆ กัน เพราะเราจะหมุนเวียนกันไป
เรื่อยๆ สุดท้ายแต่ละแห่งก็จะมีสื่อครบทั้งหมด ทีนี้การเรียนที่เราจะมุ่งเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง
ก็จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
ขึ้นมา เห็นไหมละครับว่า เรา นักเทคโนโลยีการศึกษา ถ้าเราทำกันจริงๆ
มันไม่ใช่เรื่องยากเลยเพราะสิ่งที่ผมกำลังนำเสนอนี้เราก็ทำมาหลายสิบปีแล้ว เพียงแต่ว่า
ต่างคนต่างทำเท่านั้นเอง

ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะเล่าสู่กันฟัง....ตอนนี้ขอจบเท่านี้ก่อนครับและขอเชิญทุกท่านร่วมแสดง
ความคิดเห็น โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษาหรือไม่ ความคิดท่านคือพลังสร้าง
สรรค์สังคมไทย
ครับเอาละครับตอนนี้ลองมาแลกเปลี่ยนทัศนะกันดูครับว่าจินตนาการของผม
จะเป็นจริงหรือไม่

ด้วยจิตคารวะ
จักรพงษ์ เจือจันทร์


=== ขอเชิญร่วมแสดงทัศนะ ===
guestbook.jpg (2547 bytes)
=== สมุดเยี่ยมครับ | My Guestbook ===

ตั้งแต่วันที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ปรับปรุงล่าสุด ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓
จัดทำโดย :นายจักรพงษ์   เจือจันทร์ email :
jakrapog@hotmail.com
๗๗๕/๑๑ ถ.สุขาภิบาล ๔ ตำบลระแงง
อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ๓๒๑๑๐

Back