สุวรรณ  กันภัย
ตัวอย่าง "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ควรเอาอย่าง

 

"ถ้าวันพรุ่งนี้ หรือวันต่อๆ ไป หากโลกนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ เราจะนึกถึงอะไร...หรือนึกถึงใคร"

จั่วหัวไว้แบบนี้ ไม่ใช่ว่าผมอยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบย้อนยุคนะครับ เพียงแต่เป็นหนึ่งในหลายๆ ความประทับใจต่อบุคคลที่ผมพานพบและคิดว่าน่าจะเป็นสาระและมุมมองในอีกแง่หนึ่งบนกับโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีในวันนี้ ก็เท่านั้นเองครับ ...

บ่ายของวันหนึ่ง หากดูตามปฏิทินก็คงจะย่างเข้าสู่วสันตฤดูแล้ว แต่อุณหภูมิของโลกยังดูเหมือนจะไม่ไยดีกับวันเวลาของปฏิทินที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ เพื่ออาศัยกลไกของธรรมชาติในการดำรงอยู่ของชีวิตที่ไม่จีรัง

ผมบึ่งรถไปตามถนนลาดยางจากอำเภอศีขรภูมิมุ่งหน้าสู่อำเภอสนม จุดหมายปลายทางที่ห่างกันเพียง ๓๐ ก.ม.ทิวทัศน์สองข้างทางที่เป็นท้องทุ่งเริ่มมีสีเขียวของหญ้าที่ระบัดใบ หลังจากท้องฟ้าประพรมความชุ่มฉ่ำพอให้คลายร้อน

ชาวนาบางส่วนที่ขยันทำมาหากิน จับจอบเสียมที่วางไว้หลายเดือนมาปรับแต่งคันนาเตรียมกักเก็บน้ำเพื่อรอฝนใหญ่ที่จะมาถึงในวันข้างหน้า

สองข้างทางที่ดูโปร่งตา เริ่มหนาทึบไปด้วยไม้ใหญ่ เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอสนม ผมแวะซื้อยาเส้นจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปฝากผู้ที่ผมกำลังจะไปพบ

 

ผ่านถนนคอนกรีตในตัวเมืองที่บ่งบอกถึงการทำงานของผู้มีส่วนรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปที่ไหนในชนบท

สังคมไทยเป็นอย่างนี้มานมนาน ... และอาจจะเป็นแบบนี้อีกนาน

จากถนนคอนกรีตกลายเป็นถนนดิน ผ่านป่าทึบที่เปรียบเสมือนแหล่งอาหารของชุมชน รถจักรยานที่สวนมามีผักปังเต็มตะกร้า

ในรัศมีไม่กี่มากน้อยเท่านั้นที่เห็น และแหล่งอาหารนั้นกำลังหดหายไปตามวัฏฏะของโลก

ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก ท่ามกลางท้องนาที่ว่างเปล่า หากใครมาพบเห็นจะต้องสะดุดตากับความเขียวขจี บนพื้นที่ประมาณ ๙ ไร่ ของลุงสุวรรณ กันภัย เกษตรกรผู้ทรหดที่ยึดแนวทาง "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ยังคงเป็นตำนานที่มีชีวิตอยู่

แม้อากาศโดยทั่วไปในยามนี้จะร้อนปานใด หากแต่ย่างเข้าไปในบริเวณ "ไร่นา-สวนผสม" ของลุงสุวรรณแล้วเราจะรู้สึกถึงความแตกต่างแม้จะไม่มากนัก แต่ก็สัมผัสได้

...เย็นกาย เย็นตา และเย็นใจ...

ทางเดินขนาดสองคนเดินเคียงกันได้ จากปากทางเข้าสู่บ้านของลุง ดูสะอาดตา ตลอดสองข้างทางดาษดาไปด้วยพรรณไม้หลากชนิด ทั้งไม้ผลและผักสวนครัว

ในส่วนที่จัดแบ่งไว้ทำนา ข้าวในนาสูงราวศอก ขณะที่ผ่านมานั้น เกือบ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ยังไม่ทำอะไรกับผืนนา คงเป็นเวลาเดียวกันกับข้าวในนาของลุงสุวรรณและครอบครัวตั้งท้อง โดยที่ชาวนาส่วนใหญ่กำลังลงกล้ากัน

ลานข้างๆ กระท่อมหลังน้อยของลุงสุวรรณกลายเป็นห้องรับแขกกลางทุ่งไปโดยปริยาย ป้าคำตันคู่ชีวิตของลุงกำลังนั่งห่อใบตองเพื่อทำขนมตาลกับหลานสาว

"จำผมได่บ่ป้า" ผมยกมือไหว้ทักทายพร้อมกับส่งของฝากที่มีชื่อเสียงของอำเภอศีขรภูมิ ..กาละแม
"นี่ยาเส้นของลุง ลุงไปไสละ"

ป้าทักทายอย่างเป็นกันเอง แม้ครั้งสุดท้ายที่มาเยือนจะผ่านไปเกือบปีแล้วก็ตาม
"ผมว่าจะแวะมาขอมะกรูดป้าไปสระผมนะครับ" ครั้งที่แล้ว ป้าเก็บมะกรูดถุงใหญ่ให้ผม เพื่อให้ผมเอาไป "สระผม" เพราะเห็น "ผม" ของผม ดูอาวุโสเกินวัย

และนับแต่นั้นมาเกือบปีแล้วที่ผม "สระผม" ด้วยมะกรูด อย่างต่อเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้ แรกๆ ก็ไม่ค่อยชินเท่าไหร่ แต่ผมก็ลองใช้กระทั่งแน่ใจว่า มะกรูด ทำให้ "ผม" ของผมดีขึ้นจริงๆ ที่แน่ๆ ผมไม่เคยมีรังแคและไม่เคยคันศีรษะเลยตั้งแต่ใช้มะกรูดสระผม

ใช้แบบสดๆ บีบน้ำใส่ "ผม" และเอาเปลือกถูให้ทั่วศีรษะ หรือจะต้มทั้งลูกแล้วปั่นเก็บไว้ก็ได้

ไม่ใช่ว่าผมจะกลับไปสู่ยุคอดีตนะครับ แต่ผมลองใช้แล้วไม่เสียหลาย อีกทั้งบ้านผมเองก็มีต้นมะกรูดที่ออกผลทั้งปีหากที่เก็บมาหมดแล้ว ผมก็จะไปเก็บ "ยาสระผม" มาใช้

ใช้แรกๆ ผมไม่ทราบว่ามันจะเป็นอย่างไรหรอกครับ มีอยู่หนหนึ่งผมไปเยี่ยมเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มูลนิธิพัฒนาอีสานพวกเขาถามผมว่า "ไปย้อมผมมาเหรอ" ทำไมไม่หงอกแล้ว

ผมก็อธิบายให้ฟังและอีกหลายคนที่ไม่เจอะหน้าค่าตาก็ทักแบบเดียวกัน จนผมต้องกลับไปสำรวจดู "ศีรษะ" ตัวเองใหม่

เรื่องนี้ผมเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง หลายคนสนใจ แม้กระทั่งเพื่อนที่เป็นนายแพทย์อยู่ที่สุรินทร์นี่ยังขอไปทดลองใช้เลย

ลุงสุวรรณกับป้าคำตันนี่แหละที่แนะนำผม และหากใครได้เห็น "ผม" ของทั้งสองท่านนี้ จะดำสนิทเลยครับ ป้าเล่าให้ฟังว่าก็เก็บดอกอัญชันหน้ากระท่อมนั่นแหละมาใช้ด้วย

ทักทายกันตามสมควร ผมกับป้าเดินไปหาลุงสุวรรณที่มาผักผ่อนท้ายสวนกับหลานชาย ป้าตะโกนเรียกจนลุงตื่น พลอยให้หลานชายที่หลับอุตุตื่นขึ้นมาด้วย

ผมยกมือไหว้ขอโทษขอโพยลุง เลยไปถึงหลานชายด้วย ที่มารบกวนเวลาพักผ่อน

"น่าอิจฉานะลุง" ผมกล่าวด้วยใจจริง ลุงเชื้อเชิญให้ผมขึ้นมานั่งบนเถียงนาน้อยด้วยกัน

ลุงเล่าให้ฟังว่า เพิ่งมีนักเรียนจากโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง มาเยี่ยมเยียนดูงานเร็วๆ นี้เอง ตั้งหลายรุ่นแล้ว

...

ลุงสุวรรณมีความรู้ทางการศึกษาในระบบแค่ป.๔ และเคยผ่านงานกุลีในเหมืองแร่ที่ปักษ์ใต้กว่า ๖ ปี ก่อนจะมาทำงานในโรงงานย่านสมุทรปราการและในเมืองหลวงอีกหลายปี ในวัยหนุ่ม

กระทั่งตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับป้าคำตันเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว และนำคู่ชีวิตไปทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยความมุงานและเป็นคนจริงของลุงสุวรรณทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนายจ้าง ทำให้ลุงทำงานหนักขึ้นไปอีก เพื่อส่งเงินมายังบ้าน

สุดท้ายก็รู้ตัวว่าสุขภาพย่ำแย่ จึงตัดสินใจลาออกเพื่อมุ่งหน้าสู่อาชีพของบรรพบุรุษ กับทุนรอนไม่กี่พันบาทผนวกกับที่นาที่พ่อตายกให้ส่วนหนึ่ง

แรกๆ ลุงก็ทำนาเหมือนกับชาวนาทั่วๆ ไป ทำไปทำมาก็มีแต่หนี้สิน เลยเปลี่ยนวิถีใหม่หันมาทำแบบผสมผสานแต่ไม่มีทฤษฎี เรียกว่า "ทำหา" ว่างั้นเถอะ

เป็นใครก็ต้องอ้าปากค้างหรือหาว่าลุงเสียสติ เมื่อรู้ว่าสระน้ำ บ่อน้ำ ที่ในผืนนาทั้งหมดนั้น ลุงขุดด้วยมือของลุงเองทั้งสิ้นด้วยหวังจะใช้นำในบ่อเพื่อรดพืช ผักที่ปลูกไว้

ในไร่นา-สวนผสมของลุงสุวรรณ แบ่งเป็นเนื้อที่ปลูกข้าว ๒ ไร่ มีสระน้ำขนาดใหญ่ ๓-๔ บ่อ มีต้นมะนาวที่ให้ผลผลิตทั้งปีกว่า ๑๐๐ ต้น ชมพู่กว่า ๑๐๐ ต้น พืช ผักสวนครัว อาทิ หอม ยี่หร่า สาระแหน่ กะเพรา โหระพา ฯลฯ สารพัดชนิดรวมถึงปลาในสระ ทั้งหมดนี้กินได้ไม่รู้จบ

ผมประทับประโยคหนึ่งที่ลุงตอบคำถามว่า
"ลุงใช้อะไรเลี้ยงปลาในสระ" ลุงตอบว่า
"ลุงไม่ได้เลี้ยงปลา ปลาเลี้ยงลุง"


บ่อปลา ในแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง"

จากนาเชิงเดี่ยวในปี ๒๕๑๖ อีก และกว่า ๕ ปีที่มุ "ทำหา" (ทำไปเรื่อยเปื่อย) กระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่ลุงสุวรรณกับป้าคำตัน "ทำหา" นั้นกลับกลายเป็นทรัพย์สินที่เก็บกินไม่รู้หมด ลูกหญิง-ชาย ที่ไปทำงานในเมืองหลวงก่อนก็ถูกเรียกกลับมาช่วย "ทำหา" ลุงสุวรรณสร้างบ้านหลังงามให้ลูกบนผืนนานั้นเอง

ทุกว้นนี้ นอกจากจะทำในสิ่งที่ลุงรักแล้วและอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังน้อยที่ปราศจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ซึ่งในครัวป้าคำตันยังคงใช้ฟืนที่เก็บจากไร่นานั่นเองในการหุงหาอาหาร

แม้จะมีความรู้แค่ ป.๔ ลุงสุวรรณ แต่ลุงยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรในด้านการทำเกษตรแบบพอเพียง ให้กับหน่วยงานราชการ, เกษตรกรทั้งไทยและต่างประเทศรวมถึงผู้ที่สนใจในอาชีพนี้อีกด้วย

ด้วยการศึกษาเพียง ป.๔ ลุงสุวรรณยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลายกระทั่งประสบผลสำเร็จในชีวิตทำให้ผมทึ่งและน้อมรับ ยอมรับในความสามารถ หากเทียบกับคนที่มีการศึกษาสูงแล้ว (ถ้าหากเอาปริญญาเป็นตัวตั้ง--รวมทั้งผมด้วย) ลุงสุวรรณสมควรที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นครูของแผ่นดิน

แน่นอนที่สุด ใบประกาศเกียรติคุณและเกียรติยศที่คนจบป.๔ อย่างลุงสุวรรณได้รับทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศย่อมแสดงให้เห็นว่าคุณค่าของคนนั้น ไม่ได้อยู่ที่การศึกษาเสมอไป

ลุงสุวรรณ ป้าคำตัน สระน้ำและต้นไม้ในสวนของลุงสอนผมหลายๆ อย่าง รวมทั้งหลักธรรมในการดำเนินชีวิต การพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิต ที่อยู่กันอย่างสมดุลและเอื้อต่อกัน

เกียรติ ชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเป็นเพียงสิ่งสมมุติเท่านั้น

ยกมือไว้ร่ำราพร้อมกับมะกรูดถุงใหญ่

ขากลับผมแวะซื้อลูกปลานิล เอาไปปล่อยในสระที่บ้านสวนศีขรภูมิ

...

ผมนึกถึงเรื่องลุงสุวรรณ ขณะดูทีวีเห็นข่าวรถไฟใต้ดินในประเทศไทยจะเปิดใช้ในช่วงต้นปีหน้า
นึกถึงความเจริญของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ผมได้ไปเห็นแค่เสี้ยว
นึกถึงตอนตัวเองนั่งรถไฟฟ้าลอดใต้อุโมงค์ใต้น้ำจาก Oak Land ไป ซานฟรานซิสโก
... นึกถึงหลายอย่างที่พานพบ

 

ผมตั้งคำถามเล่นๆ ให้กับตัวเอง

"นับแต่พรุ่งนี้ ถ้าโลกไม่มีไฟฟ้า -- ใครจะอยู่ได้โดยไม่เดือนร้อนเลย"

 

ด้วยจิตคารวะ


คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครับ

created by.
กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 

๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๖