โบตั๋น  แสนมี
แบบอย่าง "เศรษฐกิจพอเพียง"

สวัสดีครับ ภูมิปัญญาชาวบ้านในครั้งนี้ขอเสนอเรื่อง "นาธรรมชาติ" หรือ "การทำนาแบบเกษตรอินทรีย์" เนื่องด้วยเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์กำลังตื่นตัวหันมาทำนาธรรมชาติกันมากขึ้น ...

เรามาดูกันว่า "นาธรรมชาติ" ที่ว่านี้มีที่มาที่ไปและทำกันอย่างไร

นาธรรมชาติเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเกษตรทางเลือกเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบและระบบการผลิตจากระบบเกษตรกรรมเคมีมาสู่ ระบบเกษตรกรรม ทางเลือกที่เน้นการรักษาดุลยภาพและการเกื้อกูล ระหว่างคนพืชและสัตว์

สืบเนื่องมาจากความล้มเหลวของภาคเกษตรกรที่เป็นสถานการณ์โดยรวมที่เผชิญกับราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่วนราคาผลผลิตกลับตกต่ำ หลังจากเก็บเกี่ยวและจำหน่ายผลผลิตแล้ว กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้หนี้ที่เกิดจากการทำนา หนำซ้ำบางรายต้องกู้เงินเพื่อมาซื้อข้าวสาร นอกจากนี้ ผลของการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก การใช้ยาปราบศัตรูพืช การใช้ผืนดินปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ยังผลให้ดินเสื่อมสภาพ ทำให้ได้ผลผลิตด้อยคุณภาพ อีกทั้งเป็นบ่อเกิดของโรคอันตราย "เลปโตสไปโรซีส" หรือ "โรคฉี่หนู" ที่คร่าชีวิตเกษตรกรไปแล้วหลายรายนาธรรมชาติ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร 

"โบตั๋น แสนมีและสมศักดิ์ ลำดับมาก" เป็นอีกครอบครับหนึ่งที่ตัดสินใจหันมา ทำนาธรรมชาติ และทำต่อเนื่องกันมาเป็น เวลากว่า ๑๐ ปีโดยเริ่มทำตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ในช่วงแรกๆ นั้นเริ่มต้นทดลองบนผืนนาเพียงส่วนหนึ่งก่อนและหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วปรากฎว่าได้ผลผลิตน้อยกว่าการทำนาที่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี และนั่นคือเหตุผลที่เกษตรกร หลายๆ คน ซึ่งได้ทดลองทำนาธรรมชาติเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ก็เกิดความท้อและเลิกทำไปเลย

"ท้ออยู่เหมือนกัน แต่ทำให้เราขยันขึ้น ถ้าอยากจนก็อยู่ในร่ม ส่วนเราต้องเจอแดดทั้งวัน" เกษตรกรหญิงวัย๓๐ ต้นๆ เอ่ยถึงความในใจเหตุผลที่กล่าวเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าเธอมีฐานะร่ำรวยหรือดีกว่าคนอื่นๆแต่ประการใด 

แต่เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าใน ๑ ปีนั้น หลังจากการทำนาในช่วงฤดูฝนแล้วเกษตรกรส่วนใหญ่จะปล่อยผืนนาให้รกร้าง ว่างเปล่าและบางส่วนก็อพยพแรงงานสู่เมืองหลวงแต่โบตั๋นและสามีกลับใช้เวลาและความอดทนในการพลิกผืนดินที่ว่างเปล่านั้นให้เกิดรายได้ ทั้งยังเป็นการบำรุงดินไปในตัว

ถึงแม้ผลผลิตในปีแรกๆ จะลดลงแต่สิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นนั่นคือ "รายจ่าย" ดังนั้น ในปีต่อๆจึงได้ขยายพื้นที่การทำนาธรรมชาติ กระทั่งครบทุกอาณาบริเวณ ที่เป็นเจ้าของกว่า ๒๐ ไร่ 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

"คนเราไม่มีหนี้สินก็จะสบาย" เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

การทำนาธรรมชาติ ของเกษตรกรจากบ้านเปรียง ต.สำโรง อ.เมือง จ.สุรินทร์ รายนี้ ใช้กรรมวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่สิ่งที่ต้องใช้มากที่สุดนั่นคือ "ความอดทน"

ในช่วงการทำนาปี ก็ปลูกพืชคลุมดินตามคันนาไปด้วย เพื่อให้เศษกิ่ง ใบ ตกลงไปเป็นปุ๋ยในนา เช่น
จำพวกพืชตระกูลถั่วทั้งหลาย นอกจากนี้ ยังมีกล้วย ตะไคร้ บวบ ขี้เหล็ก ซึ่งเป็นพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อบริโภค ในครอบครัวและแปรเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่ง

การบำรุงรักษาก็ใช้ปุ๋ยคอก เช่น ขี้ควาย ขี้วัว และขี้ไก่ ส่วนศัตรูพืชก็ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการกันเอง ส่วนวัชพืชหรือหญ้าที่ขึ้นตามคันนาก็ปล่อยไว้ให้โตเต็มที่ จากนั้นก็เก็บเกี่ยวไว้เป็นอาหารสำหรับวัว ควาย

โบตั๋นอธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างการใช้ปุ๋ยคอกกับปุ๋ยเคมีว่า

"ในปีแรกหากเราใช้ปุ๋ยคอก ๑๐๐ ก.ก. ในปีต่อไปเราก็จะใช้เพียง๕๐ ก.ก. แต่ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีปีแรกใช้ 
๕๐ ก.ก. ปีต่อไปต้องใช้เพิ่มขึ้น และการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่เพียงแต่จะต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายเท่านั้น ยังทำให้ดินเสื่อมสภาพเร็วขึ้น" 

ผลจากการเริ่มทำนาธรรมชาติเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกวันนี้ผืนนาของโบตั๋นไม่จำเป็นต้องพึ่ง
สารเคมีอีกต่อไป อีกทั้งสามารถเพิ่มผลผลิตนอกฤดูกาลทำนาอีกด้วย

กล่าวคือ หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จะไถกลบตอซังเพื่อให้เป็นปุ๋ย จากนั้นก็จะปลูกพืชตระกูลถั่ว
และพืชเศรษฐกิจ อื่นๆ โดยขอเมล็ดพันธุ์จากหน่วยงานที่ สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้
ยังเลี้ยงไก่บ้าน วัว ควาย ไว้ในสวนกลางทุ่งนา เหล่านี้เองที่ทำรายได้นอกฤดูกาลทำนา ส่วนมูลสัตว์ที่ได้ก็นำไปหว่านเป็นปุ๋ยในนา

จากวันที่เริ่มต้นจวบจนวันนี้ กว่า ๑๐ ปีที่โบตั๋นและสามี ใช้ความอดทน อดกลั้น อดออมในการทำนาธรรมชาติเพื่อคืนความสมบูรณ์ให้กับผืนดินและธรรมชาติที่ให้คุณกับสรรพสิ่งมาตลอด 

บัดนี้ธรรมชาติได้คืนกลับสิ่งดีๆ ให้กับเกษตรกรโบตั๋นและครอบครัวแล้ว.

หมายเหตุ
เรื่องนี้ผมเขียนเมื่อครั้งทำงานที่มูลนิธิพัฒนาอีสาน ปี ๒๔๔๔
และเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเลยนำมาเผยแพร่
ในกระดานดำออนไลน์อีกครั้งหนึ่งครับ



คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครับ

created by.
กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖