ภูมิหลัง
ทองมา
เปรียบยิ่ง เป็นบุตรชายคนโต จากพี่น้อง ๗ คน ของพ่อดิน และแม่ลุน
เปรียบยิ่ง ปัจจุบันอายุ ๕๐ ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่ บ้านเลขที่ ๒๐
หมู่ที่ ๑๒ บ้านโดนเลงใต้ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ. สุรินทร์
หลังจบการศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้น
ทองมาก็ได้ออกมาช่วยครอบครัวทำนาและใช้วิถีชีวิตชนบทมาตั้งแต่บัดนั้น
จวบจนย่างเข้าวัยหนุ่ม อายุได้ ๒๒ ปี ทองมาเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็น นายฮ้อย
ค้าควายอยู่ที่จังหวัดชลบุรี แต่ทำได้เพียง ๑ ปี
ก็ย้อนกลับมาสู่วิถีชีวิตแบบเดิม พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้ สมรสกับนางประสพ
เปรียบยิ่ง มีบุตรและธิดารวม ๓ คน
วิถีเกษตร
ก่อนปี
๒๕๓๔ ครอบครัวของทองมา ยังคงทำนาเชิงเดี่ยวอยู่ แต่หลังจากนั้น
เมื่อมีโครงการ คสป. เข้ามารับซื้อข้าวในหมู่บ้าน
ซึ่งบ้านทะมอจะมีข้าวชนิดหนึ่งซึ่งที่อื่นไม่มี คือข้าวเนื้ออ่อน
และก็ได้ชักชวนชาวบ้านให้หันมาทำนาโดยเน้นการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด
ใช้วัตถุดิบที่มีในธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก
โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกจำพวกปุ๋ยหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
การปฏิบัติในแนวทางนี้ นอกจากจะทำให้คุณภาพของดินดีขึ้นแล้ว
ผลผลิตที่ได้ยังปลอดจากสารเคมีทุกชนิด อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ
ถือเป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัว
เข้าสู่โครงการนำร่องฯ
ปี ๒๕๔๔
ทองมาได้เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ
โดยพื้นที่ที่ทองมาอาศัยอยู่และพื้นที่ทำกินนั้น อยู่ในผืนเดียวกัน
โดยแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย ๑ งาน และพื้นที่เข้าร่วมโครงการ ๑๒ ไร่
นอกเหนือไปจากนั้น ก็มีแปลงสำหรับทำนาอินทรีย์และทำเกษตรแบบพึ่งตนเอง
๒๐ ไร่
การเข้าร่วมโครงการนำร่องฯ
ทำให้มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานของเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการทำนาธรรมชาติ,
นาอินทรีย์ หลายๆ คน เช่น พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน
ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปฏิบัติแห่งยุคสมัย ที่กิ่งอำเภอแคนดง
จ.บุรีรัมย์ อีกทั้งพ่อเชียง ไทยดี ปราชญ์นักวิจัยชาวบ้าน
จากอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ การได้เห็น ได้สัมผัส ได้พูดคุย
แลกเปลี่ยนประสบการณ์นี่เอง
ทำให้ได้แนวคิดมาปรับประยุกต์ใช้กับผืนนาของตนเอง
นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์หลากหลายที่ได้รับจากโครงการฯ
ทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว การช่วยเหลือเกื้อหนุนปัจจัยการผลิตอื่นๆ
ที่ได้รับก็คือ ได้รับงบประมาณอุดหนุนสำหรับพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
การทำโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสัตว์
ในพื้นที่ทำกินของทองมา
มีบ่อน้ำจำนวน ๓ บ่อ ซึ่งเพียงพอสำหรับทำการเกษตรตลอดทั้งปี
ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรหมุนเวียนสำหรับบริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี
พืชผักสวนครัว จำพวก ตะไคร้ กระเพราะ โหระพา พริก ขิง ข่า ฯลฯ
และไม้ผลจำพวกมะม่วง กล้วย กะท้อน
จึงมีให้ได้เก็บกินสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละฤดูกาล
เหลือจากนั้นก็นำไปขายนำรายได้สู่ครอบครัวในอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้แล้วยังมีพืชจำพวกสมุนไพรอีกด้วย
ประการสำคัญคือ ทองมาสามารถประคบประหงมไม้ผลชนิดหนึ่ง
ซึ่งชาวสุรินทร์โดยทั่วไปมีความเชื่อว่า ไม่มีทางปลูกได้ นั่นคือ
เงาะโรงเรียน
ทองมาและครอบครัวสามารถเก็บผลผลิตบริโภคร่วม ๓ ปีแล้ว
นี่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์
ที่ทะลายกำแพงความเชื่อของคนทั่วไปได้ โดยการปฏิบัติและเอาใจใส่
ซึ่งนั่นก็หมายความว่า หากพื้นที่ของทองมาปลูกเงาะได้ พื้นที่อื่นๆ
ในจังหวัดสุรินทร์ก็น่าจะปลูกเงาะได้เช่นเดียวกัน
หากเกษตรกรมีความเอาใจใส่อย่างจริงๆ จังๆ
ถ่ายทอดภูมิปัญญา
จากองค์ความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่มีทองมามีอยู่นั้น
ก็ไม่ได้เก็บไว้แต่เพียงผู้เดียว
ยังถ่ายทอดสู่เพื่อนเกษตรกรทั้งในและนอกกลุ่มของตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน
การวิเคราะห์สภาพพื้นดินว่าเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดไหน
ถือได้ว่าทองมาเป็นนักวิจัยชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่กำลังมีผลงานเป็นที่ยอมรับ
ความภูมิใจของครอบครัว
ถึงแม้ว่าทองมาและภรรยาจะจบการศึกษาเพียงขั้นพื้นฐาน
และประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาตลอดชีวิต
แต่สิ่งหนึ่งซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครอบครัวของทั้งคู่ นั่นก็คือ
ลูกๆ แต่ละคนไม่สร้างความผิดหวังให้กับตน
ธิดาคนโต
ปัจจุบันรับราชการครู ส่วนบุตรชายคนที่ ๒
กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสายงานด้านเกษตรกรรม
อยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนบุตรีคนสุดท้องก็กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยม
การทำเกษตรธรรมชาติ ก็สามารถส่งลูกเรียนสูงๆ ได้เช่นกัน
นี่คืออีกผลผลิตหนึ่งทั้งคู่ภาคภูมิใจ
ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปี ในวิถีเกษตรแบบธรรมชาติ
ที่เน้นการพึ่งพาปัจจัยภายในและลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด
เท่าที่จะทำได้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า
ไม่เพียงแต่จะสร้างความสมดุลให้คืนสู่ธรรมชาติแล้ว
ยังนำความสุขมาสู่ครอบครัวอย่างหาที่เปรียบมิได้ในอีกทางหนึ่ง
นี่คือ ความสำเร็จของครอบครัวนายทองมา เปรียบยิ่ง |