ภาคภูมิ  อินทร์แป้น
แบบอย่าง "เศรษฐกิจพอเพียง"

นายภาคภูมิ อินทร์แป้น เป็นบุตรสุดท้อง จากพี่น้อง ๓ คน ของพ่อเคือย และแม่เฝือย อินทร์แป้น อยู่บ้านเลขที่ ๘๙ หมู่ ๑๒ บ้านโดนเลงใต้ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ปัจจุบันอายุ ๓๘ ปี

หลังจบการศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้น ภาคภูมิได้ออกมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งตนเองได้ช่วยทำตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ๔ กระทั่งอายุได้ ๒๗ ปี ได้ไปรับจ้างใช้แรงงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ด้วยการเป็นกรรมกรก่อสร้างสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ ช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ ย่านเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นกรรมก่อสร้างได้ประมาณ ๗-๘ เดือน เมื่อถึงฤดูทำนาก็กลับมาช่วยครอบครัว หลังจากเก็บเกี่ยวก็ได้เข้าเมืองหลวงอีก คราวนี้ไปอยู่โรงงานหล่อกระทะไฟฟ้า ทำได้ ๒ เดือน ก็เปลี่ยนไปทำงานที่โรงงานปั่นด้าย อยู่แถวบางพลี โดยไปพักอยู่กับพี่สาว ครั้งนี้อยู่รวมได้ ๑ ปี ก็ได้กลับมาบ้านอีกครั้ง
 


มุ่งสู่วิถีเกษตรกรรม

การที่ได้ช่วยครอบครัวทำนามาตั้งแต่อยู่ ป.๔ ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือปิดเทอม ก็วนเวียนอยู่กับสังคมเกษตรกรรมมาโดยตลอด ทำให้ซึบซับรับเอาสิ่งเหล่านี้เข้าไปในตัว และมีความต้องการที่จะสานต่ออาชีพของบรรพบุรุษต่อไป

แรกเริ่มเดิมทีนั้น ครอบครัวของภาคภูมิก็ทำนาเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีเช่นเดียวกับพี่น้องเกษตรกรโดยทั่วไป กระทั่งพบว่ายิ่งทำต้นทุนก็ไม่มีลด รายได้ที่คาดว่าจะได้ก็ไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้ หนำซ้ำสุขภาพยังย่ำแย่ลงอีกด้วย

และสิ่งที่ทำให้ภาคภูมิวิตกจนไม่อยากจะใช้สารเคมี เนื่องจากมีเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ล้มป่วยจนถึงกับเสียสติ โดยหาสาเหตุไม่เจอ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจและเจาะเลือด ก็พบว่าเพื่อนเกษตรกรคนนั้นได้รับสารพิษจากปุ๋ยเคมีเกินขนาด เมื่อได้รักษาอาการตามขั้นตอนแล้วก็กลับหายเป็นปกติ

จากนั้นเป็นต้นมา ภาคภูมิก็ไม่มีความคิดที่หันไปใช้สารเคมีอีกเลย

อยากกินอะไรก็ปลูก

เมื่อหลุดพ้นจากวงจรของสารเคมีแล้ว ภาคภูมิมีแนวคิดว่า อยากกินอะไรที่ปลอดภัยก็ปลูกสิ่งนั้น นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังส่งให้ถึงสุขภาพที่ดีด้วย จึงเริ่มปลูกพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ เป็นต้นมา

ปี ๒๕๔๔ ภาคภูมิได้เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ จากการที่ได้ทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานโดยยึดหลักธรรมชาติมาก่อนหน้าแล้ว ทำให้ได้พบแนวคิด ทฤษฎีใหม่ๆ เช่น ระบบการจัดการแปลง, การผลิตปุ๋ย, ระบบการจัดการน้ำ ฯลฯ นอกจากความรู้ทางวิชาการที่ได้รับแล้ว การสนับสนุนปัจจัยการผลิตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ภาคภูมิได้รับ สำหรับเป็นทุนรอนในการดำเนินงาน

การทัศนศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนเกษตรกรต่างกลุ่ม ทำให้โลกทัศน์ของการทำงานกว้างขึ้น ภาคภูมิก็ได้นำสิ่งที่เห็นมาปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับแปลงของตน

อย่างไรก็ดี ภาคภูมิกล่าวว่าการทัศนศึกษาดูงานนั้น ใช่ว่าทุกคนจะได้ประโยชน์เสมอไป ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความสนใจใฝ่รู้ของแต่บุคคลด้วย หากใครสนใจที่จะเรียนรู้ก็จะได้สิ่งที่ต้องการ แต่บางคนก็คิดว่าการทัศนศึกษาคือการไปเที่ยว คนนั้นก็จะได้แค่ไปเที่ยวเท่านั้น

ภาคภูมิ ถือครองที่ดินทำกินจำนวน ๓ แปลง มีอยู่อาศัย ๑ ไร่ พื้นที่ที่เข้าโครงการ ๑๒ ไร่ พื้นที่ทำนาอินทรีย์ ๑๘ ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด ๓๑ไร่

ทุกแปลงที่ทำการเกษตรนั้น ภาคภูมิใช้ปุ๋ยพืชสดที่ทำขึ้นเป็นส่วนใหญ่ นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตแล้ว ผลผลิตที่ได้ยังมีปริมาณเป็นที่น่าพอใจและขายได้ราคาอีกด้วย ทั้งยังสามารถ เพิ่มรายได้จากขายเมล็ดพันธุ์จากพืชที่ปลูกคลุมดินจากพืชจำพวกถั่วได้อีกทางหนึ่ง

ประการสำคัญคือ คุณภาพของดินที่เสื่อมเสริมจากการใช้ปุ๋ยเคมีในระยะแรกๆ นั้น กลับฟื้นคืนสู่สภาพธรรมชาติ อย่างที่มันควรจะเป็น

นอกจากผลผลิตด้านพืชพรรณแล้ว ในแปลงของภาคภูมิยังได้รับการส่งเสริมเรื่องแหล่งน้ำไว้ใช้สำหรับพืชผักที่ปลูกในแปลงเกษตร มีทั้งพืชผักสวนครัว และไม้ผล อาทิ มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง โดยปลูกไว้ตลอดแนวคันนา และยังเป็นแหล่งโปรตีนทางธรรมชาติอีกด้วย นอกนั้นก็เป็นโรงเรือนเลี้ยงวัว เลี้ยงเป็ด ไก่ ส่วนที่สำหรับพักอาศัยอยู่บริเวณด้านหน้าของแปลง

ปัจจุบันภาคภูมิมีความพึงพอใจกับวิถีชีวิตที่เลือกแล้ว กับปณิธานที่ตั้งไว้อยากกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น ทุกวันก็เป็นรูปธรรมชัดเจน พืชผักสวนครัวทั้งหลาย ไม่ต้องไปซื้อหา แถมยังมีเหลือไว้ขายในตลาดนัดสีเขียวสำหรับคนที่ต้องการบริโภคผักปลอดสารพิษ

ภาคภูมิกล่าวว่า “ถ้าเราขยัน เราก็มีกินตลอด”



คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครับ

created by.
กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 

๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔