นายดาด พันธ์พงษ์
บุตรชายคนที่ ๒ จากพี่น้อง ๖ คน ของพ่อเพรียน แม่สำเนียง พันธุ์พงษ์
อยู่บ้านเลขที่ ๒ หมู่ ๕ บ้านมะลูจรุง ต.อู่โลก อ.ลำดวน จ.สุรินทร์
อายุ ๔๗ ปี สมรสกับนางลินจง พันธุ์พงษ์ มีบุตร ๓ คน
หลังจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ดาด
ก็ออกมาช่วยครอบครัวทำนามาโดยตลอด กระทั่งได้สมรสกับนางลินจงเมื่อปี
๒๕๓๓ และเมื่อมีทายาท วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป เพื่อปากท้องของครอบครัว
เมื่อหมดฤดูทำนา
ดาดได้หาอาชีพเสริมด้วยกับขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ย่านบขส.ในตัวเมืองจังหวัดสุรินทร์
เพื่อนำรายได้มาจุนเจือและส่งเสียให้บุตรได้รับการศึกษา
การที่มีบุตรชายถึง ๓ คน ทำให้ภาระหนักจึงตกแก่ดาดแต่เพียงผู้เดียว
เพราะภรรยาก็เป็นเพียงแม่บ้าน และไม่มีรายได้มากนัก
ดาด
จึงมองหาช่องทางอื่นเพื่อจะนำรายได้มาสู่ครอบครัวให้มากกว่าที่เป็นอยู่
และเผอิญในช่วงที่เขาได้ประกอบอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
และเห็นว่ามีธุรกิจเกี่ยวกับการเหมารถปิ๊คอัพให้ไปส่งตามที่ต่างๆ
ซึ่งมีรายได้ดีกว่า เขาจึงเปลี่ยนจากขี่มอเตอร์ไซค์มาขับรถแทน
รถคันแรก เป็นรถใหม่ป้ายแดงของน้องชายที่รับราชการครู
แต่ซื้อได้ไม่กี่เดือน ก็ไม่สามารถส่งงวดต่อได้
ดาดจึงรับช่วงภาระนั้นมา
อย่างไรก็ดี
ดาดต้องจ่ายค่าหัวคิวในการจอดรถปิ๊คอัพในย่านบขส.
โดยที่เขาต้องจ่ายไปเป็นเงินสูงถึง ๔๐,๐๐๐ บาท ซึ่งดาดกล่าวว่า
ก็เหมือนกับการลงทุนซื้อที่ดินนั่นแหละ
เพราะสามารถทำมาหากินตรงนั้นได้ตลอดชีวิต
วิบากกรรม
ดาดเริ่มต้นชีวิตใหม่กับรถคันใหม่ ด้วยความหวังอันสวยหรู
ต่อแต่นี้ไปลูกและเมียคงมีความสะดวกสบายมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
เพราะรายได้จากการวิ่งรถปิ๊คอัพนั้น มากโขอยู่พอสมควร
แต่ทุกอย่างก็มลายลงหลังจากเริ่มต้นได้เพียง ๒๗ วัน
ดาดถูกกลุ่มมิจฉาชีพที่แสร้งว่าเป็นผู้โดยสาร
ว่าจ้างให้ไปส่งที่จังหวัดยโสธร
ดาดเล่าให้ฟังด้วยความคับแค้นใจว่า โชคยังดีที่เขายังมีลมหายใจกลับมา
ถึงแม้รถคันนั้นจะถูกเชิดไป โดยไม่ไยดีว่า
คนที่ทำมาหากินโดยสุจริตจะเจ็บช้ำน้ำใจ
การกระทำของมิจฉาชีพกลุ่มนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เขาเดือดร้อนเท่านั้น
ยังส่งผลถึงครอบครัวอีกด้วย
ดาด ใช้เวลาและเงินทองในการตามหารถ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของเขา
ถึง ๒ ปี แต่ก็สิ้นหวัง
อีกทั้งได้เห็นความฉ้อฉลของระบบข้าราชการไทยบางกลุ่ม
ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ไม่ได้ติดตามหารถคันนั้นอีกเลย
มิจฉาชีพกลุ่มนั้น
ทิ้งภาระหนี้สินให้ดาดและครอบครัวเป็นเงินราวครึ่งล้านบาท
แก้ปัญหาด้วยสติ
ถึงแม้ว่าจะเจอมรสุมชีวิต และวิกฤติที่ไม่คาดหวัง
ญาติพี่น้องของเขาเกรงว่าเขาจะหันไปหาอบายมุข และทำให้ชีวิตดำดิ่งลง
แต่ดาดเลือกแก้ปัญหาด้วยสติ ด้วยความหวังที่ว่า ชีวิตยังมีลมหายใจ
ดาดและลินจง
คู่ชีวิต ตัดสินใจไปทำสวนแตงกวาที่ผืนนาของพ่อ
ซึ่งอยู่ท้ายหมู่บ้านนั่นเอง ในช่วงแรกของการทำนั้น
ปรากฏว่าได้ผลผลิตเป็นอย่างดี
และก็เป็นแรงจูงใจให้เขาหันมาสนใจในเรื่องของการทำเกษตรอีกครั้ง
เข้าสู่โครงการนำร่องฯ
ดาดมีที่นาเป็นของตัวเองราว ๗ ไร่ ซึ่งทำนาเชิงเดี่ยว ปี ๒๕๔๓
ดาดได้รู้จักกับโครงการนำร่องฯ ซึ่งได้มาแนะนำหลักการและวิธีการต่างๆ
เกี่ยวกับการเกษตรผสมผสาน เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
ปัจจัยต่างๆ
ที่ได้รับจากโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน แหล่งน้ำ และความรู้ต่างๆ
ที่สำคัญคือการทัศนศึกษาดูงาน การได้เห็น
ได้เรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ดาดมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง
ในช่วงแรกของการเข้าร่วมโครงการฯ
ดาดและภรรยาเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า ผลผลิตดีมากๆ
พืชผักสวนครัว พริก มะเขือ ถั่วลิสง นำรายได้เข้ามาสู่ครอบครัว
ทำให้ลืมความทุกข์ ความเจ็บช้ำน้ำใจลงไปได้บ้าง

นอกจากนี้แล้ว ในแปลงของดาด
ยังงบประมาณสำหรับสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ด ไก่และทำรั้วล้อมรอบ
แต่ถึงกระนั้น ยังมีวัวควายของเพื่อนบ้านเข้ามากัดกินพืชผลให้เสียหาย
หนำซ้ำ ยังมีคนมาขโมยปลาในสระของเขา
ข้อดีอีกประการหนึ่งในการเข้าร่วมโครงการนำร่องฯ
คือสามารถลดปัจจัยการผลิตจากภายนอกจำพวกปุ๋ยและสารเคมีลงไปได้มาก
โดยหันมาพึ่งพาปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักทำขึ้นเอง
อย่างไรก็ตาม
จากวิกฤติชีวิตที่ผ่านมา
ทำให้ดาดต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อหารายได้มาใช้หนี้สินที่เขาไม่ได้ก่อไว้
ซึ่งถือว่าเป็นเงินก้อนโตสำหรับชีวิตเกษตรกร
ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลแปลงมากนัก
รวมถึงระบบการจัดการน้ำที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ
เพราะเขายังขาดเครื่องสูบน้ำ
ทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้กับผลผลิตทางการเกษตรได้มากนัก
แต่ชีวิตของลูกผู้ชายชื่อดาด ที่เชื่อว่าหากแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสติ
ไปทีละขั้น ทีละตอน ปัญหาอุปสรรคทั้งหลาย
ก็เป็นแค่เพียงบททดสอบความอดทนของมนุษย์ เท่านั้นเอง |