"สังฆโสภณกถา"

ในการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ในพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช
ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
วันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ เวลา ๑๗.๐๐ น.
พระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท) วัดพระเชตุพน
รับพระราชทานถวาย

............................................................................

นโม ตสฺส ภควโต อรหโน สมฺมา สมฺพุทฺธสฺสฯ
โย โหติ พฺยตฺโต จ วิสารโท
พหุสสุโต ธมมธโร จ โหติ
ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ส ตาทิโส วุจฺจติ สงฺฆโสภโณติ.

      บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา ในสังฆโสภณกถาฉลองพระเดชพระคุณ
ประดับพระปัญญาบารมี สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงพระคุณ
อันประเสริฐเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่ทรงพระเจริญพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอด
ฟ้าจุฬาโลกมหาราชสมเด็จพระบรมกษัตริยาธิราช
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธี
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน
เพื่อทรงอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชพระองค์นั้นโดยทรงอนุสรณ์ถึงพระราช
คุณูปการอย่างใหญ่หลวงที่ทรงมีแก่แผ่นดิน และพสกนิกรชาวไทยตลอดทั้งพระราชวงศ์เป็นล้นพ้น
สุดที่จะพรรณนาได้ ด้วยพระราชหฤทัยอันงาม ที่ทรงตั้งมั่นอยู่ในพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม และ
คารวะ อปจายนธรรม ซึ่งเป็นคติวิสัยของบัณฑิตชน ทั้งยังเป็นสรรพสิริสวัสดิ พิพัฒนมงคลสูงสุด
ดังพุทธวจนะในมงคลสูตรว่า กตญฺญตา เอตมฺมงคมุตฺตํม ความเป็นผู้กตัญญูกตเวที เป็นอุดมมงคล
ดังนี้ 

     สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม
พุทธศักราช ๒๔๗๐
ตั้งแต่วันพระราชสมภพ จนถึงวันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓
คือวันนี้ นับพระชนมวารได้ ๒๖,๔๖๙ วัน
เท่ากับพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราช
สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช พระองค์เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันพุธที่ 
๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๒๗๙
เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒ 

     ก็แล ในพระบรมราชวงศ์จักรีนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็น
พระมหากษัตริย์ที่มีพระชนมายุยืนยาวกว่าพระองค์อื่น
ที่ครองราชสมบัติสนององค์สืบต่อกันมา จนถึง
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘
     อนึ่ง พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า แห่งพระบรมราชวงศ์
จักรีวงศ์นี้เป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ ในพระราชวงศ์จักรีทรงปฏิบัติสืบต่อกันมาใน
รัชกาลปัจจุบันมิใช่จะมีประเพณีนี้เป็นครั้งแรก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธี
ในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วสามวาระคือการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระมหิตลา
ธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ การพระราช
พิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม
พุทธศักราช  ๒๕๒๘
และการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจอม
เกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๔

     สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ นับแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม
พุทธศักราช ๒๕๔๓
วันนี้ไปแล้ว จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีพระชนมายุและทรงครอง
ราชย์ยืนยาวนานที่สุดในบรรดาพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทย
นับแต่สมัยกรุง
สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
ในอภิลักขิตสมัยสมมงคลนี้ประชาชนชาว
ไทยต่างมีความชื่นชม โสมนัสยินดีปรีดากันทั่วถ้วนในพระบุญญาธิการรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรม
การอำนวยการขึ้นจัดงานสมโภชเป็นพิเศษ เพื่อถวายความจงรักภักดี ส่วนกลางจัดที่ท้องสนามหลวง
ในวันที่ ๒๑ ถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม มีพิธีสืบพระชะตาแบบล้านนา เชิญไม้โพธิ์ไปค้ำต้นโพธิ์ 
ณ วัดพระเชตุพน ส่วนภูมิภาค จังหวัดทุกจังหวัด จัดงานอย่างประหยัดสนองพระราชประสงค์
มุ่งหนักไปในการบำเพ็ญทางศาสนกิจ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และความสามัคคี โดยความ
ปรารถนาอย่างยิ่ง เพื่อขอให้ทรงสถิตสถาพรในสิริราชสมบัติยิ่งยาวนาน พร้อมด้วยสมเด็จพระนาง
เจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชวงศ์จักรี

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชทรง
ประกอบพระราชกรณียกิจที่ยิ่งใหญ่ในการสถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรีทรงสร้างความมั่นคงแก่
แผ่นดิน ทรงพิทักษ์รักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศชาติ ต้องเสด็จไปเป็นจอมทัพไปในงาน
สงครามเกือบตลอดพระชนม์ชีพ
ครั้งสุดท้ายที่นับว่าสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย คือได้เสด็จ
ออกไปในสงครามเก้าทัพ ที่ตำบลลาดหญ้าเมืองกาญจนบุรี
จนข้าศึกมิอาจรุกรานต่อไปและในแผ่นดิน
ของพระองค์ พระราชอาณาเขตได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ที่สุดด้วยพระบุญญาภินิหารพระองค์ยังทรง
มีพระปรีชาญาณ พิจารณาถึงความสถิตสถาพรของประเทศชาติ จำต้องพึ่งหลักสำคัญคือ
พระพุทธศาสนา จึงทรงโปรดอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะพร้อมด้วยราชบัณฑิต
ให้จัดการสังคายนาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎก ปรากฏชื่อว่าพระไตรปิฎกฉบับลานทอง
แล้วทรง
โปรดให้จัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง ชำระสะสางปรับปรุงพระราชกำหนดกฎหมายเรียกว่า
กฎหมายตราสามดวง ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีและศิลปวัฒนธรรมประเพณี เพื่อความสามัคคีเป็นปึก
แผ่นแก่ชุมชน เป็นต้น สมดังพระราชปณิธานในนิราศท่าดินแดงว่า

ตั้งใจจะอุปถัมภก
ป้องกันขอบขัณฑสีมา

ยอยกพระพุทธศาสนา
รักษาประชาชนและมนตรี

     ตลอดเวลา ๒๖,๔๖๙ วัน (๗๒ ปี ๕ เดือน ๑๙ วัน) สมเด็จพระบรมพิตร พระราชสมภารเจ้าก็ได้
ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างไพศาลยังความร่มเย็นชุ่มให้แก่พสกนิกรประเทศชาติดุจต้นโพธิ์
ใหญ่ใบหนาแน่น แม้พระองค์ทรงเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ มิต้องทรงบัญชาการรบโดยตรงแต่เมื่อ
ยามที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง ก็ทรงขจัดปัดเป่ามิให้ลุกลามจนพ้นจากภัย
พิบัติ
สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชเจ้า พระองค์นั้น ทรงเผชิญกับการสงครามภายนอก ที่ก่อ
ความไม่สงบรุกรานพระราชอาณาจักร ซึ่งเกิดแต่ประเทศใกล้เคียง ส่วนสมเด็จพระบรมบพิตร
พระราชสมภารเจ้า
ทรงต่อสู้กับสงครามภายใน คือสงครามเศรษฐกิจ
ซึ่งเกิดแก่ประเทศทั่วโลกที่กว้าง
ใหญ่กว่าสมัยก่อน ทรงเป็นมิ่งขวัญกำลังใจผสกนิกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี ได้ทรงมีพระราช
ดำริพระราชทานโครงการต่างๆ นับประมาณ ๒,๕๐๐ โครงการ
ล้วนแต่เป็นส่วนยังประเทศชาติให้
เจริญมั่นคง ประชาชนอยู่ดีมีสุขเช่นปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจวิกฤต ก็พระราชทานโครงการเศรษฐกิจ
พอเพียง
โดยรัฐบาลได้น้อมรับพระราชทานโครงการนั้นๆไปสนองพระราชดำริและมิเพียงแต่
สมเด็จพระบรมพิตร พระราชสมภารเจ้าเท่านั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชนินาถ พระราชโอรส
พระราชธิดา ตลอดทั้งสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อยังพระชนม์อยู่ก็ทรงร่วมเป็นขบวน
การในสงครามนั้นๆ ด้วย ในส่วนพระบวรพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า
ทรงเป็นมหาอุบาสก ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยพระราชศรัทธาอย่างยิ่งในพระรัตนตรัย
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนานาประการ ทรงเจริญจิตตภาวนาอยู่เนืองนิตย์

     สมเด็จพระบรมพิตร พระราชสมภารเจ้า และสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช ทั้งสองพระองค์
แม้จะทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญต่างกาล ต่างสมัย แต่ทรงมีพระราชปณิธานเสมือนเป็นหนึ่ง
เดียวกัน กล่าวคือ สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ก็ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า

"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม"

     พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ ของสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้านั้น ยังความสง่างาม
ให้ปรากฏในหมู่พสกนิกร และประเทศชาติ แม้นานาประเทศต่างซาบซึ้งสรรเสริญพระเกียรติคุณอัน
ไพศาล ทั้งนี้ ก็ด้วยทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และทรงเจริญในสังฆโสภณธรรม ๕ ประการ
ดังที่ได้รับพระราชทานไว้ ณ เบื้องต้นว่า โย โหติ พฺยตฺโต จ วิสารโท เป็นอาทิ ความว่า ผู้ใด

  • เป็นคนฉลาด ๑

  • กล้าหาญ ๑

  • ได้สดับฟังมาก ๑

  • เป็นผู้ทรงธรรม ๑ และ

  • เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามคลองธรรม ๑

     ผู้เช่นนั้น เรากล่าวได้ว่า ผู้ยังหมู่คณะให้สง่างาม ดังนี้

     โดยนัยพระพุทธสุภาษิต ทรงแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมที่ยังหมู่คณะให้สง่างาม ๕ ประการ
มีอรรถาธิบาย โดยสังเขป ดังนี้
     ๑. ความฉลาด เป็นชื่อของปัญญา คือ ความรอบรู้ในเหตุผล มี ๒ ประการคือ เป็นโกศล ๑ อย่าง
ปฏิภาณอย่าง ๑

        โกศลนั้น ได้แก่ ความฉลาดรอบรู้ เหตุแห่งความเจริญ เรียกว่า อายโกศล ๑ ความรอบรู้
เหตุแห่งความเสื่อมเรียกว่าอปายโกศล ๑ ความฉลาดรอบรู้ในอันหลีกเหตุแห่งความเสื่อมประกอบ
เหตุแห่งความเจริญ เรียกอุปายโกศล ๑
       ปฏิภาณนั้น ได้แก่ ความเฉลียวฉลาดหรือไหวพริบรู้เท่าทัน สามารถโต้ตอบได้ฉับพลันไม่
เสียเปรียบในเชิงเจรจาและมีไหวพริบรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แล้วสามารถแก้ไขได้
ทันท่วงที ปิดทางเสื่อมมิให้เกิดขึ้นแม้มีภัยที่น่าหวาดหวั่นตั้งอยู่รอบด้านย่อมอาจดำริการผ่อนปรน
ช่วยตนและผู้อื่นให้รอดพันภยันตรายโดยสวัสดี

     ๒. ความกล้าหาญ ย่อมเกิดขึ้นด้วยความมีปัญญา ความกล้าหาญนั้น ได้แก่ ความเป็นผู้มีน้ำใจ
อดทนบากบั่นไม่ยอมท้อต่ออุปสรรค เฉกเช่นพระมหาชนก บรมโพธิสัตว์ ที่ทรงกล้าหาญใช้วิริยะ
ความเพียรจนลุถึงประโยชน์ความปรารถนา อนึ่ง ความกล้าหาญนั้นต้องมีความระมัดระวังรอบคอบ
ใช้ความกล้าหาญในทางที่ชอบ ในการประกอบกิจกรรมกิจกรรมที่เป็นสุจริต เป็นสัมมาอาชีวะ มิใช้
ความกล้าหาญในทางผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมเป็นมิจฉาอาชีวะ

      ๓. ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ได้แก่ ผู้เป็นพหูสูตร เป็นผู้รักการศึกษา และแสวงหาวิชาความรู้
เพื่อเพิ่มพูนให้มีปัญญาความฉลาด ทันกับเหตุการณ์
โลกสมัยปัจจุบันวิทยาการเปลี่ยนแปลงตลอด
เวลา มีสื่อติดต่อกันได้ทั่วทุกมุมโลก นอกจากศึกษาจากตำรับตำราแล้ว ยังจะต้องศึกษาจากสื่อ เช่น 
วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ แล้ววิเคราะห์วิจัย ค้นคว้า พิจารณาด้วยเหตุผลในขณะเดียวกัน
ก็ต้องไม่ทอดทิ้งหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อหลอมจิตใจให้
ตั้งอยู่ในทางประพฤติดีปฏิบัติชอบ

      ๔. ผู้ทรงธรรม ได้แก่ ผู้ที่สดับฟังหรือศึกษาค้นคว้าไว้แล้ว ต้องจดจำหัวข้อเป็นหลักไว้ได้ใน
ทางโลก ผู้ศึกษาจะต้องจดจำหลักวิชาการนั้นให้ถูกต้อง มิฉะนั้น ก็ไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้
ในทางธรรมก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่ปฏิบัติธรรม หรือจะแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติดีถูกต้องตามธรรม
นั้นๆ ต้องจดจำข้อธรรมนั้นและมีความเข้าใจเนื้อความแห่งข้อธรรมนั้นๆ ด้วยซึ่งเป็นหลักของ
นักปราชญ์ประการหนึ่ง

      ๕. ผู้ปฏิบัติตามคลองธรรม โดยเหมาะสมแก่ฐานะของตน เช่น เป็นผู้ใหญ่จะต้องมีเมตตากรุณา
ต่อผู้น้อยผู้น้อยก็ต้องมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ผู้นำหมู่คณะต้องมีพรหมวิหารธรรม ระมัดระวัง มิให้
อคติธรรมเข้าครอบงำในการปฏิบัติหน้าที่

    สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงเจริญในสังฆโสภณธรรมทั้ง
๕ ประการ
จึงยังความสง่างามให้เกิดขึ้น ในหมู่พสกนิกรและประเทศชาติ มีพระบรมเกียรติยศ
เกียรติศักดิ์ขจรขจายไปทั่วโลกปานดั่งดวงจันทร์ในวันเพ็ญที่ลอยเด่นท่ามกลางหมู่ดวงดาวในพื้น
นภากาศ ปราศจากเมฆหมอกเป็นราคี ดังนี้

    ขออำนาจพระราชกุศลทักษิณานุประทานที่สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าทั้งสอง
พระองค์
ได้ทรงบำเพ็ญให้ตั้งอยู่ด้วยดีแล้วในพระสงฆ์ ทรงพระราชอุทิศถวายส่วนพระราชกุศล
ทั้งปวงนี้
แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช
จงเป็นผลสัมฤทธิ์สมดังพระราชเจตนาอุทิศทุกประการขอสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า เทพยาดาอารักษ์
ทั้งปวง และเทพยดาซึ่งสถิตในพระราชนิเวศน์ทุกองค์ จงอนุโมทนาโดยทั่วกัน.

รตฺนตฺยานุภาเวน     กตปุญฺญสฺส  เตชสา

        ด้วยอานุภาพแห่งพระคุณรัตนตรัย พระเดชานุภาพแห่งพระราชกุศล บุญบารมีที่ทรงบำเพ็ญ
แล้ว ขอจงอภิบาลคุ้มครองสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงพระคุณ
อันประเสริฐ และพระราชโอรสพระราชธิดา จงถึงพร้อมด้วยพระสรรพพรชัยมงคล มีพระชนมายุ
ยืนยาวนาน เสด็จสถิตสถาพรในพระราชสิริสมบัติทรงเป็นธงชัยของประเทศชาติ ทรงประสาธน์
ให้สำเร็จหิตสุขประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ

        รับพระราชทานถวายวิสัชนา พระธรรมเทศนายุติลง เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

ขอถวายพระพร


ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากพระธรรมราชานุวัตร (หลวงเตี่ย) วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์)
ผู้มีพระคุณอย่างสูงยิ่งที่ให้ข้าพเจ้าได้ไปทำงานรับใช้การศึกษาและพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา
ให้นำสังคโสภณกถามาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กระดานดำออนไลน์ เมื่อปี ๒๕๔๓
ถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงสุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของข้าพเข้า

นายจักรพงษ์  เจือจันทร์
ผู้พิมพ์และเผยแพร่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
http://www.kradandum.com
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓

หมายเหตุ พระธรรมราชานุวัตร ได้มรณภาพไปเมื่อวันจันทร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๕


ภาพเมื่อปี ๒๕๔๓ ที่วัดไทยลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา
ข้าพเจ้าได้นำเหรียญรางวัล
ที่จัดทำขึ้นสำหรับมอบให้นักเรียน
ในวันแข่งขันกีฬาสีประจำปีของโรงเรียนพุทธศาสนาวัดไทย
ถวายแด่พระธรรมราชานุวัตร