"เทคโนโลยีการศึกษา:ทันสมัยหรือพัฒนา" มองจากตัวเอง

เมื่อปี ค.ศ.๑๙๗๑ หรือปี พ.ศ.๒๕๒๔ ฝรั่งคนหนึ่งมาทำวิจัยในเมืองไทย แล้วเขียนหนังสือวิชาการขึ้น ตั้งชื่อว่า "Modernization Without Development" แปลว่า ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เขาหมายถึงประเทศไทย เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนถึงประเทศไทยทั้งสิ้น สรุปได้ว่า "ประเทศไทยทันสมัยแต่ไม่พัฒนาเลย"

เป็นใจความตอนนี้ในการบรรยายของท่านพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวเมื่อครั้งมีสมณศักดิ์เป็นพระราชวรมุนีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๕ วันคล้ายวันวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและตีพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ ชื่อว่า "มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย"

เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ข้าพเจ้าอยากแนะนำให้ทุกท่านได้อ่าน อ่านแล้วฉุกคิด คิดตาม คิดอย่างปราศจากอคติคิดแล้วยอมรับถึงหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างที่ท่านได้กล่าวไว้ในการบรรยายครั้งนั้น

ถึงแม้ว่านายนอร์แมน จาคอบส์ ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้เมื่อ ๓๐ ปีกว่าแล้ว แต่คำว่า "ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา" ยังคงใช้ได้กับสังคมไทยมาตราบเท่าทุกวันนี้ และหากสังคมไทยยังเป็นแบบนี้ คำนี้ก็อาจจะกลายเป็น "อมตะวาจา" สำหรับประเทศไทยก็ได้

"มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย" เป็นหนังสือที่ข้าพเจ้าคิดว่านักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคลากรที่อยู่ในแวดวงการศึกษาควรซื้อหามาอ่าน และควรบรรจุให้เป็นหนังสือเรียนนอกเวลาด้วยซ้ำไป แต่ถ้าหากได้บรรจุไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องขออภัยในความเขลาของตนเองมา ณ ที่นี้

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เมื่อมาทำงานที่มูลนิธิพัฒนาอีสาน ที่สุรินทร์ไม่มีขาย อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าเคยพบเห็นหนังสือเล่มนี้ฉบับพิมพ์ใหม่ มีวางขายที่ร้านหนังสือธรรมะที่อยู่บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เสียดายที่ครั้งนั้นข้าพเจ้าไม่ได้ซื้อติดไม้ติดมือมาด้วย หากมีโอกาสลงไปกรุงเทพฯ อีก สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือข้าพเจ้าต้องไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้ให้ได้

ข้าพเจ้าขอโยงเข้ามาสู่เรื่องราวของแวดวงเทคโนโลยีการศึกษา หรือในชื่อเดิมคือโสตทัศนศึกษา ซึ่งข้าพเจ้าเข้ามาสัมผัสในแวดวงนี้ เนื่องเพราะ วิชาการถ่ายภาพแท้ๆ ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวถึงในบทความครั้งก่อนๆ แล้ว

ข้าพเจ้ากลายเป็นนักศึกษาสาขาวิชาโสตทัศนศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี ๒๕๓๒ จากการลงเรียนวิชาการถ่ายภาพเบื้องต้น, การผลิตภาพถ่ายสี และเข้าไปสู่แวดวงของการผลิตสื่อเพื่อการศึกษาอย่างเต็มตัว

เป็นที่รู้กันในแวดงงเพื่อนฝูงในยุคนั้นว่า ข้าพเจ้า พอมีฝีมือทางด้านการถ่ายภาพอยู่บ้าง และได้ใช้วิชาชีพนี้ทำมาหากินและสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองอยู่พักใหญ่ๆ

ซึ่งใครก็ตามที่เรียนวิชาการถ่ายภาพในสมัยนั้น จะต้องเรียนรู้ศาสตร์ของการถ่ายภาพพอสมควร นอกจากจะต้องถ่ายภาพได้แล้ว ยังต้องเรียนรู้เรื่องการล้าง-อัด-ขยาย ภาพอีกด้วย ซึ่งจะเป็นภาพขาวดำเป็นหลัก

ใครก็ตามที่เรียนในสาขาโสตทัศนศึกษา ที่มหาวิทยารามคำแหง จะต้องเรียนวิชาการผลิตภาพถ่ายเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นวิชาบังคับ ซึ่งเป็นการถ่ายภาพสไลด์ประกอบคำบรรยาย ต้องเรียนเขียนบท (Script) และถ่ายภาพออกมาให้ตรงตามบทที่เขียน

นอกจากวิชาการถ่ายภาพที่ข้าพเจ้าชื่นชอบแล้ว ยังมีวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับด้านสื่อแขนงต่างๆ อีกมากมาย อาทิ วิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา, การผลิตภาพยนตร์ ฯลฯ

โสตทัศนศึกษา จึงไม่แปลกต่างจาก นิเทศศาสตร์เท่าไรนัก เพียงแต่กลุ่มเป้าหมายเราต่างกัน

โสตทัศนศึกษา มุ่งหวัง ผลิตบุคลากรป้อนวงการศึกษา

ในขณะที่นิเทศศาสตร์ ผลิตบุคลากรป้อนวงการสื่อสารมวลชน

และอาจเป็นโชคดีประการหนึ่งของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เป็นมหาวิทยาลัย
ซึ่งนักศึกษาจะลงเรียนข้ามสาขาวิชาได้

ข้าพเจ้ารวมทั้งเพื่อนๆ กว่าครึ่งจาก ๒๐๐ กว่าชีวิต ก็ได้เลือกเรียนวิชาโท เป็นสาขาสื่อสารมวลชน ของคณะมนุษยศาสตร์ในขณะที่อีกบางส่วนก็ไปลงเรียนวิชาการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ของคณะบริหารธุรกิจ

เนื่องจากค่าหน่วยกิถูกมาก ๑๘ บาทในตอนนั้น กอปรกับมีตำราให้ซื้อหามากมายในราคาประหยัด ทำให้พวกเราจึงไม่จำกัดอยู่แวดวงการศึกษา

เพื่อนๆ หลายคนของข้าพเจ้า ก็ไปได้ดิบได้ดีในแวดวงสื่อสารมวลชน

อดีตที่ผ่านมา การถ่ายภาพนั้น นอกจากอาศัยอุปกรณ์จำพวกกล้องถ่ายภาพ, ฟิล์ม และอุปกรณ์เสริมต่างๆ แล้ว การล้าง-อัด-ขยาย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คนในแวดวงโสตทัศนศึกษาต้องพึ่งพาอาศัย

ในส่วนของภาพเคลื่อนไหวหรือวีดิทัศน์ เมื่อก่อนนั้น กว่าจะได้วีดิทัศน์สักเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในการตัดต่อนั้น มีราคาแพง

ข้าพเจ้าเคยรับจ้างผลิตวีดิทัศน์เพื่อการศึกษามาบ้าง ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ นั้นต้องขอหยิบยืมจากพรรคพวกเพื่อนฝูงทั้งนั้น ถ่ายเสร็จก็ต้องหาห้องตัดต่อ รอคิว กว่าจะได้วีดิทัศน์ความยาวแค่ ๑๐ นาที ข้าพเจ้าต้องทำงานเป็นเดือน สองเดือน

สำหรับการทำสิ่งพิมพ์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนักในสมัยนั้น เพราะติดขัดเรื่องวัสดุ-อุปกรณ์

ก้าวเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์

เราๆ ท่านๆ ที่เคยใช้คอมพิวเตอร์เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาคงพอจะเป็นความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งนั้นก็หมายถึง การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือในแวดวงของเทคโนโลยีการศึกษา เมื่อทุกอย่างถูกบรรจุลงในกล่องที่กว้างยาวไม่เท่าไหร่

จากยุค CAI ถึง WBI

ในยุคแรกๆ CAI ได้รับการกล่าวขวัญถึงค่อนข้างมาก และข้าพเจ้าก็เลือกที่จะทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง CAI ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านมาคงไม่ขอกล่าวถึง

และการเติบโตของ CAI ในแวดวงเทคโนโลยีการศึกษาของประเทศไทย ก้าวหน้าไปเพียงไร ให้เราๆ ท่านๆ นึกตรึกตรองดูเอง

เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคเครือข่าย ดูเหมือนว่า CAI ที่ยังก้าวไม่เต็มขั้นดี ก็เสมือนเลือนหาย ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงมากนัก

ส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ CAI ไม่เติบโต ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา เพราะคอมพิวเตอร์ยังมีราคาแพง และยังจำกัดอยู่ในวงแคบๆ

ต่อเมื่อคอมพิวเตอร์ราคาถูกลง และการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีเครือข่าย ทำให้ CAI แทบจะถูกลืมไปในที่สุด ดังบทความที่ข้าพเจ้าเคยเขียนไว้

วงการเทคโนโลยีการศึกษากระโดดข้ามเรื่องนี้ไปหรือไม่? แม้แต่ข้าพเจ้าเอง ยังถูกเทคโนโลยีเครือข่ายหลอกให้ติดกับดักไปช่วงหนึ่ง เมื่อไปหลงติดกับมัน คิดว่าเป็นยาวิเศษ

ข้าพเจ้าพยายามทำตัวให้ทันสมัยและพัฒนาไปในคราวเดียวกัน โดยหลงลืมความเป็นจริงกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในวงกว้าง

จริงอยู่ เดี๋ยวนี้แทบทุกสถานศึกษา ล้วนมีคอมพิวเตอร์ และครูในโรงเรียนแทบทุกโรงเรียน อย่างน้อย ๑ คน มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ส่วนหนึ่งการจากการผลักดันจากนโยบายของรัฐ

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี ที่ครูมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยใช้

เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าประกอบธุรกิจซื้อ-ขาย เครื่องคอมพิวเตอร์ มีลูกค้าคนหนึ่งต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานด้านเอกสาร และความบันเทิงครบวงจร ประเภทดูหนัง-ฟังเพลง ได้ แต่ไม่
สามารถร้องคาราโอเกะ เพราะตอนนั้นยังไม่มี

ข้าพเจ้ายังจำราคาได้ว่า เราลองคำนวณสนนราคาดู ตกราว ๖-๗๐,๐๐๐ บาท

จากที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถ่ายภาพ, การผลิตวีดิทัศน์, การผลิต E-learning, CAI, WBI, การผลิตตำรา, เอกสารต่างๆ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ถูกเก็บไว้ใน chip กว้างยาวไม่กี่เซนติเมตร รวมราคาค่างวดไม่ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท เราก็สามารถเป็นเจ้าของ Studio ขนาดย่อมได้

ลองนึกตรึกตรองดูว่า คอมพิวเตอร์ทุกวันนี้เราใช้มันคุ้มค่าหรือเปล่าหากกล่าวไป ข้าพเจ้าไม่อยากให้คิดว่าเป็นการโอ้อวดหรือแสดงสรรพคุณ ขอให้คิดว่า เรามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันดีกว่า

ยังไม่จบครับ ติดตามอ่านต่อครั้งต่อไป



คำ "ติ-ชม" ของท่านมีค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเว็บไซต์ครับ

created by.
กระดานดำออนไลน์
730/4 Tassabarn 7 Rd. Tambol.Ra-ngang
Sikhoraphum District, Surin Province.Thailand 32110

email : jakrapog@hotmail.com 
๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๗

-ค