บทที่ 1
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ความเจริญรุดหน้าทุกด้านของมนุษยชาติในปัจจุบัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับ
อินเทอร์เน็ต ที่สามารถเชื่อมโลกให้เป็นหนึ่งเดียว และคอมพิวเตอร์ก็ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง
ต่อทุกสังคมโลก ซึ่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งหลายทั้งปวงทุกวันนี้สามารถทำได้อย่างง่ายดายด้วยการคลิก
เมาส์หรือกดแป้นคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ และการลงทุนด้านธุรกิจ
การวิเคราะห์ทางการแพทย์
การวิจัย-
ทางทหาร การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ อีกทั้งงานด้านการเกษตรหรืออุตสาหกรรมล้วนต้องพึ่งพาเทคโนโลยี
คอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น
ถึงแม้การตอบรับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในวงการศึกษาจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า อันเนื่องมาจากความ
หวาดหวั่นว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนครูผู้สอน อย่างไรก็ตาม นักเรียน นักศึกษาทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสาร
กันได้โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การทำรายงานหรือการค้นหาข้อมูลในบางครั้งนั้นไม่จำเป็นต้องไปที่
ห้องสมุดหรือเปิดตำราค้นคว้าอีกต่อไป เพราะสารสนเทศและข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตได้รวบรวมผลงานอัน
หลากหลายของนักวิชาการ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักคิด
นักเขียน
มารวมไว้เพื่อให้ทุกคนสามารถ
แบ่งปันกันใช้
ซึ่งการเข้าถึงข่าวสารเช่นนี้จะเป็นการแพร่กระจายการศึกษาและโอกาสส่วนตัว
แม้แต่นักเรียน
ที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนดีๆหรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวก็มีโอกาสที่จะรับรู้ดังเช่นคนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวจะไม่ทำให้นักเรียนต้องโดดเดี่ยวหรือขาดการสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
เกตส์ (Gates, 1995) ได้กล่าวไว้ว่าประสบการณ์สำคัญที่สุดทางการศึกษาอย่างหนึ่งก็คือการทำงานร่วมมือ
กับผู้อื่นในห้องเรียนแบบสร้างสรรค์ที่สุดของโลกโดยมีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายการสื่อสารเป็นเครื่องมือ
ในการเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพธรรมดาระหว่างกลุ่ม นักเรียน หรือระหว่างนักเรียนกับครู อาจารย์
ด้วยวิธีการ
สร้างสรรค์แบบร่วมมือกัน ทำให้การเรียนรู้มิได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนหรือเพียงแต่อยู่ในความดูแลของ
ครูผู้สอนเท่านั้น และการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ
สังคมโดยส่วนรวม
การที่อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ของโลกที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่อง
เข้าด้วยกัน นับตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่กระทั่งกลายเป็น
เครือข่ายข้อมูลข่าวสารขนาดใหญ่ ทำให้การติดต่อสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น
ห้องสมุด
อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั่วโลก ข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมทั้งบทความและเรื่องราวต่างที่น่าสนใจ
ฯลฯ เป็นต้น
ประเทศไทยเริ่มสนใจและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ พ.ศ.2530 โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
(วิทยาเขตหาดใหญ่) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งในปี พ.ศ.2531 วิทยาเขตดังกล่าวนับเป็นที่อยู่
ของอินเทอร์เน็ตแห่งแรกของประเทศไทย
ประเทศไทยได้เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ในปีพ.ศ.2535 เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้เช่าสายความเร็วสูงต่อเชื่อมกับเครือข่ายของบริษัทเอกชนที่รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ต่อมามหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าและมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
บริหารธุรกิจ ได้ขอเชื่อมต่อผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเรียกเครือข่ายนี้ว่า ไทยเน็ต (THAInet)
นับเป็นเกตเวย์ช่องทางแรก (Gateway) สู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสากลของประเทศไทย (อธิปัตย์ คลี่สุนทร,
2542)
ปี พ.ศ. 2535 กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
แห่งชาติ
หรือที่เรียกว่า เนคเทค (National Electronics and Computer Technology Center
: NECTEC)
ได้ดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายของมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าด้วยกันและเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ
ภายใต้ชื่อว่าเครือข่ายไทยสาร (ThaiSarn : Thai Social/Scientific Academic and
Research
Network) ซึ่งเป็นเครือข่ายทางด้านการศึกษาและวิจัยของกลุ่มสถาบันการศึกษาของไทย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 โรงเรียนมัธยมหลายแห่งได้เชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายไทยสาร
และเมื่อการ
เชื่อมโยงเครือข่ายของโรงเรียนมัธยมได้รับความสนใจมากขึ้น
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และ
คอมพิวเตอร์แห่งชาติจึงได้เริ่มโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย และให้ชื่อว่า
SchoolNet
Thailand (ยืน ภู่วรวรรณ, 2540)
โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย หรือ SchoolNet Thailand คือเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ที่เชื่อมต่อโรงเรียนมัธยมในประเทศไทยเข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยยก
ระดับการศึกษาของเยาวชนไทย และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งความรู้ต่างๆ
ที่มีอยู่ในโลก
อีกทั้งใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างโรงเรียน ระหว่างครูกับครูระหว่างครูกับนักเรียน
ตลอดจนถึงระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง อันจะเป็นการตอบสนองนโยบายของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามนโยบาย
เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (ไอที-2000) โดยมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
เป็นผู้สนับสนุน (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ, 2540)
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว
นอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของเยาวชน
ไทยและลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาโดยการใช้ประโยชน์จากเครื่อข่ายคอมพิวเตอร์หรือ
อินเทอร์เน็ตในการศึกษาและเรียนรู้ ยังถือเป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อตอบสนองรัฐธรรมนูญ มาตรา 78
ที่กล่าวว่ารัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจ
ท้องถิ่นและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงการพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึง
และเท่าเทียมกัน
ทั่วประเทศ...
สำหรับวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงคือ
1. เพื่อให้โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศได้มีและได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในการศึกษาและการเรียนรู้
2. เพื่อเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนเอกสาร สื่อสารสอน ดัชนีห้องสมุดระหว่างโรงเรียน และระหว่างโรงเรียน
กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
3. เพื่อให้ผู้ใช้ (ทั้งครูและนักเรียน)
ในระดับโรงเรียนได้เข้าถึงศูนย์ข้อมูลต่างๆ
และห้องสมุดอินเทอร์เน็ต
4. เพื่อช่วยให้ครู อาจารย์ หรือนักเรียนในโรงเรียนสามารถติดต่อกับครู อาจารย์ หรือนักเรียนในโรงเรียน
หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในระดับโรงเรียนหรือสูงกว่าทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบันได้มีโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา ทั้งภาครัฐและ
เอกชนได้สมัครเข้าร่วมในโครงการจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ.2544 จำนวน 2,212 โรงเรียน
(http://www.school.net.th/about/ schools/acc-recv, 2544) เพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่โครงการ
ได้จัดขึ้น อาทิ กิจกรรมท่องอินเทอร์เน็ตซึ่งสิ่งเสริมให้นักเรียนค้นหาข้อมูลจากเครือข่าย ตามความสนใจ
ของตน โครงการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งเสริมให้ครูและนักเรียนเผยแพร่ผลงาน ทางการศึกษาของตน
กิจกรรมประกวด Web Page ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงออกซึ่ง ความคิด สร้างสรรค์และสร้างความ
คุ้นเคยกับเครือข่ายมากขึ้น กิจกรรมทำจุลสาร วารสารหรือนิตยสาร ออนไลน์ และโครงการห้องเรียนจำลอง
ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนติดต่อกับเพื่อนๆ จากต่างประเทศ เป็นต้น (ถนอมพร เลาหจรัสแสง,
2541)
การเข้าเป็นสมาชิกของโครงการนั้นศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
โดยห้องปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์จะจัดสรร Internet Account ให้แก่โรงเรียนที่ใช้บริการ
เครื่อง K12 จำนวน 1 Account ซึ่งแต่โรงเรียนที่เป็นของรัฐบาลจะได้รับการจัดสรรพื้นที่ 7 เมกะไบต์
เพื่อให้นำเว็บเพจ (Web Page) มาลงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และโรงเรียนจะต้องมีแผนงานพัฒนาโครงการ
อินเทอร์เน็ตภายในโรงเรียนส่งยังศูนย์ก่อน อย่างไรก็ตาม กรณีที่โรงเรียนมีความพร้อมที่จะเชื่อมต่อ
อินเทอร์เน็ตแบบโหนด (Node) และมีงบประมาณทางด้านโทรคมนาคมที่เพียงพอก็สามารถเชื่อมต่อ
เป็นโหนดเข้ากับเครือข่ายไทยสารได้ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (หรือ สวทช.)
และเนคเทคสนับสนุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่โรงเรียนจะต้องชำระเงินอุดหนุนการเป็นสมาชิก
ตามระเบียบการเชื่อมต่อ
จากวัตถุประสงค์และการเข้าเป็นสมาชิกในโครงการ จะเห็นว่าในแต่ละโรงเรียนจะได้รับการ
จัดสรร
พื้นที่เพื่อให้นำเว็บเพจมาลง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแต่ละโรงเรียนที่จะต้องออกแบบและจัด สร้างเว็บเพจ
เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของโรงเรียน นอกจากนี้โรงเรียนอาจจะนำสื่อการสอนมาใส่ในเครือข่าย
SchoolNet เพื่อให้นักเรียนหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาค้นหาข้อมูลได้
เว็บเพจ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ (web site) หรือเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web
: WWW
หรือ เรียกสั้นๆว่า เว็บ) โดยที่เวิลด์ไวด์เว็บเป็นบริการหนึ่งบนอินเทอร์เน็ตที่มีผู้นิยมใช้กันมาก
และในเว็บไซต์หนึ่งๆ นั้นอาจจะมีเพียง 1 เว็บเพจ หรือมากกว่านั้นก็ได้
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (2540) ได้ให้ความหมายของเว็บเพจ
(web page) ไว้ว่า คือหน้าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์บนเวิลด์ไวด์เว็บ ที่เสนอข้อมูลใดๆ ที่เจ้าของเว็บเพจ
ต้องการจะใส่ลงไปในหน้าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์นั้น เช่น ข้อมูลแนะนำตัวเอง หรือข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ
การเขียนหรือสร้างเว็บเพจ นั้นจะใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า HyperText Markup
Language
(HTML) ซึ่งสามารถแสดงข้อมูลได้หลายรูปแบบ เช่น ข้อความ ภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว
รวมทั้งสื่อประสม
(multimedia) และข้อมูลที่นำเสนอนั้นสามารถเชื่อมโยงในรูปของไฮเพอร์เท็กซ์
(Hypertext) คือ เชื่อมโยง
(Link) ไปยังเว็บเพจอื่นๆ ที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปเรื่อยๆ และแต่ละเว็บเพจ
จะต้องมีที่อยู่อิเล็กทรอนิกส์
บนเครือข่ายเฉพาะของตน ซึ่งแหล่งที่อยู่นี้เรียกว่า
Uniform Resource Locator หรือ URL
สำหรับลักษณะข้อมูลที่อาจปรากฏในเว็บเพจของโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมในโครงการเครือข่าย
คอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน คำขวัญและเพลงประจำโรงเรียน
รายชื่อและคุณวุฒิของครูในโรงเรียน หลักสูตร/วิชาที่เปิดสอน เนื้อหาของแต่ละวิชา
เอกสารประกอบ
การเรียนการสอนในแต่ละวิชา เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูลจะมีมากหรือน้อยและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เข้าไป
ดูมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและความตั้งใจจริงของผู้บริหารและครูที่รับผิดชอบในการ
ดูแลเนื้อหาในเว็บเพจของโรงเรียนนั้นเอง (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ
แห่งชาติ, 2540)
จิตเกษม พัฒนาศิริ (2540) กล่าวถึงการสร้างเว็บเพจว่า มีลักษณะคล้ายกับการเขียนหนังสือให้น่าอ่าน
และการจะเขียนหนังสือให้น่าอ่านย่อมขึ้นอยู่กับการออกแบบหน้าปก เนื้อหา ว่าจะมีวิธีการอย่างไรถึงจะทำให้
ผู้อ่านอยากอ่าน อยากติดตาม และการเข้าไปใช้งานบนเว็บเพจนั้นคล้ายกับการเดินทางไปในดินแดนต่างๆ
ที่แปลกตา เพราะในแต่ละเว็บไซต์นั้นอาจมีการเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์อื่นที่ซับซ้อนอีกมากมาย
ถ้าผู้ใช้รู้จัก
เส้นทางที่ดีก็จะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้สร้างและออกแบบ
เว็บเพจที่จะต้องหาหนทางให้ผู้ใช้สามารถเดินทางไปสู่จุดหมายได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์
การใช้งาน อีกประการหนึ่งที่สำคัญในการออกแบบเว็บเพจคือ
จะต้องมีสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกใน
การค้นหาสถานที่ที่ผู้ใช้จะเดินทางไปได้โดยมีคำอธิบายสั้นๆ
ถึงความสำคัญหรือภารกิจของเว็บไซต์
ที่ผู้ใช้กำลังจะเลือกเดินทางไป
นีลเซ็น (Nielsen, 1996) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเว็บเพจ ได้ให้ข้อแนะนำที่น่าสนใจเกี่ยวกับการ
ออกแบบและสร้างเว็บเพจว่าการใช้เฟรม (กรอบ) มากเกินไปจะทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสน
ควรหลีกเลี่ยง
การใช้ตัวอักษรเคลื่อนไหวทั้งหลาย การใช้ตัวชี้แหล่งในอินเทอร์เน็ต (URL)
ที่มีความซับซ้อนและยากต่อ
การพิมพ์การสร้างเว็บเพจที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกลับไปโฮมเพจ
การใช้แถบเลื่อนด้านข้างที่มีความยาวของ
หน้ามากเกินไป (long scrolling) การขาดคำแนะนำสำหรับสืบค้นข้อมูล
การไม่ใช้สีที่เป็นมาตรฐานในการ
เชื่อมโยงความไม่ทันสมัยของข้อมูล การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่ไม่มีความจำเป็นและไม่เหมาะสมในการ
นำเสนอประการสุดท้ายคือการเข้าถึงข้อมูลที่ใช้เวลามากกว่า10 วินาที ซึ่งสิ่งต่างๆ
เหล่านี้จะทำให้ผู้ใช้
เกิดความเบื่อหน่าย และอาจจะไม่เข้ามาชมเว็บเพจอีก
ดังนั้นนักออกแบบเว็บเพจควรตระหนักและควร
หลีกเลี่ยงไม่ให้มีขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเขียนหรือการนำเสนอบนเว็บไว้ว่า
เนื้อหาที่จะนำเสนอบนเว็บ
นั้นควรมีความรัดกุม อ่านง่ายและมีวัตถุที่ชัดเจน ซึ่งจากการวิจัยโดยตัวเขาเองและทีมงานตั้งแต่ปี 1994
ได้พบว่าเว็บส่วนใหญ่มีโครงสร้างที่คล้ายๆ กัน
ในงานวิจัยดังกล่าวยังได้ศึกษาถึงโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ
ของเว็บไซต์ซึ่งพบว่าในแต่ละ
เว็บไซต์นั้นโดยรวมแล้วมีรูปแบบในการนำเสนอที่คล้ายคลึงกัน
แต่อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่าง
ออกไปตามแต่วัตถุประสงค์ของเว็บไซต์นั้นๆ
โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาโครงสร้างหรือองค์ประกอบของ
เว็บซึ่งประกอบไปด้วย คือ ลักษณะโครงสร้างของเว็บตัวนำทาง การสืบค้นสารสนเทศ การออกแบบเว็บเพจ การวางโครงร่างลักษณะงานกราฟิก และสัญรูป
เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบหลักของการนำเสนอผ่านเว็บ
และนอกจากนี้ยังกล่าวว่า
เนื้อหาของการนำเสนอบนเว็บนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
และผลจากการศึกษา
ที่ต่อเนื่องกันยังพบสิ่งที่สนใจอีก 3 ประการคือ
1)
ผู้ที่เข้าไปในเว็บนั้นจะไม่ใช้วิธีการอ่านเนื้อหาหรือ
สารสนเทศที่ปรากฏบนเว็บไซต์แต่จะเป็นการกวาดสายตาเพื่อหาสิ่งที่น่าสนใจ
2)
ผู้ที่เข้าไปในเว็บ
ส่วนใหญ่ไม่ชอบที่จะใช้แถบเลื่อนด้านข้าง
(scrolling) เพื่อการอ่าน
ซึ่งผู้อ่านต้องการข้อความที่กระชับ
และได้ใจความมากกว่า 3)
ผู้ที่เข้าไปในเว็บต้องการให้สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นข้อเท็จจริงมากกว่าอื่นใด
จากผลการศึกษาดังกล่าว จะเห็นว่าทั้งการออกแบบและการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศผ่านอินเทอร์เน็ต
หรือเวิลด์ไวด์เว็บนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้อย่างง่ายๆ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนมากมาย
อย่างไรก็ดี การออกแบบและการสร้างเว็บเพจในวงการศึกษายังเป็นเรื่องใหม่ อีกทั้งเอกสารและงานวิจัย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งต่างประเทศและในประเทศยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก
ซึ่งถ้าหากมีการศึกษาถึงลักษณะ
และรูปแบบ รวมทั้งแนวทางในการสร้างและออกแบบของแต่ละโรงเรียน
เพื่อเป็นแนวทางของโรงเรียนที่
จะเข้าร่วมโครงการในอนาคต ก็จะทำให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของแต่ละโรงเรียนเป็นไปอย่างน่าสนใจ
และน่าติดตามมากขึ้น
ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความเห็นว่าควรจะมีการศึกษาถึงลักษณะการออกแบบและการสร้าง
เว็บเพจของโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย
เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาเว็บเพจ
ของแต่ละโรงเรียนต่อไป
Top
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาลักษณะการออกแบบและการสร้างเว็บเพจของโรงเรียนในโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์
เพื่อโรงเรียนไทย
2. เพื่อนำผลการวิจัยที่ได้ไปเป็นแนวทางในการออกแบบและสร้างเว็บเพจของโรงเรียนในโครงการ
เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยที่จะเข้าร่วมโครงการในอนาคต
Top
ขอบเขตของการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาถึงการออกแบบและการสร้างเว็บเพจ โดยสอบถามความเห็นของ
เว็บมาสเตอร์
หรือผู้ดูแลเว็บของโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยปี พ.ศ. 2543
ซึ่งประชากรมีจำนวน 227 โรงเรียน
Top
ข้อจำกัดของการวิจัย
เนื่องจากการวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยส่งแบบสอบถามผ่านอีเมลไปยังกลุ่มตัวอย่าง ดังนั้น ข้อจำกัดในการวิจัยครั้งนี้คือ หากกลุ่มตัวอย่างไม่ตอบแบบสอบถามกลับมาทางอีเมล
อาจเนื่องมาจากปัญหา
ของระบบเครือข่าย
Top
คำจำกัดความที่ใช้ในการวิจัย
1. เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (SchoolNet Thailand) หมายถึง เครือข่ายคอมพิวเตอร์
ที่เชื่อมต่อโรงเรียนในประเทศไทยเข้าสู่อินเทอร์เน็ต
2. เว็บไซต์ (web site) หมายถึง ชุดของเอกสารที่เกี่ยวข้องกันในเวิลด์ไวด์เว็บหรือในระบบไฮเพอร์เท็กซ์
(hypertext) ใดๆ ที่เอกสารเหล่านั้นมารวมอยู่ด้วยกัน และมีการนำเสนอในลักษณะไฮเพอร์เท็กซ์
3. โฮมเพจ (home page) หมายถึง หน้าแรกของเว็บไซต์ หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า
หน้าต้อนรับ
(welcome page)
4. เว็บเพจ (web page) หมายถึง หน้าของเอกสารที่บรรจุอยู่ในเว็บไซต์ซึ่งแต่ละเว็บไซต์อาจจะมีเพียง
หนึ่งหน้าหรือหลายหน้าก็ได้
5. โปรแกรมค้นดูเว็บ (web browser) หรือเว็บเบราเซอร์ หมายถึง โปรแกรมสำหรับดำเนินการบน
คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตและจัดการเข้าถึงเวิลด์ไวด์เว็บ
6. เว็บมาสเตอร์ (web master) หมายถึง ผู้สร้างเว็บไซต์หรือผู้ดูแลและบริหารเว็บไซต์
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เป็นแนวทางในการออกแบบและสร้างเว็บไซต์ของโรงเรียนที่จะเข้าร่วมในโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์
เพื่อโรงเรียนไทย อันจะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของชาติต่อไป
Top
|