...พอมีพอกิน
ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
ถ้าแต่ละคนมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าประเทศมีพอกินยิ่งดี...
(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
นายปฎิพัทธ์ จำมี
เกษตรกรวัย ๓๕ ปีจากบ้านเปรียง ตำบลสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ยึดถือแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานให้แก่พสกนิกรของพระองค์
เศรษฐกิจพอเพียง
หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๖
ปฏิพัทธ์ได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาเล่าเรียน
ภายใต้ร่มกาสาวพัตร์เป็นเวลา ๓ ปี
ก่อนจะลาสิกขาออกมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม
วิถีชีวิตของปฏิพัทธ์วนเวียนอยู่ในท้องไร่ท้องนามาโดยตลอด
และหนีไม่พ้นสูตรสำเร็จของชีวิตเกษตรกรจากภาคอีสานโดยทั่วไป
คือหมดฤดูทำนาก็มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่
ในช่วงหนึ่งของชีวิต ปฎิพัทธ์เคยไปเป็นคนงานก่อสร้างอยู่ศรีราชา
จังหวัดชลบุรี, และยังเคยไปทำขนม, เป็นเด็กปั๊มน้ำมัน อยู่ในกรุงเทพฯ
เหล่านี้คือประสบการณ์ในช่วงหนึ่งของชีวิต
ปี พ.ศ.๒๕๓๙ ปฎิพัทธ์ได้ประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตอีกครั้ง
เมื่อมาเป็นทำงานเป็นกรรมกรที่กรุงเทพฯ กลับถูกคนรู้จักมักคุ้นโกงค่าแรง
ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีกับสังคมเมือง
ที่ผู้คนคอยเอารัดเอาเปรียบกันอยู่ตลอดเวลา
แม้กระทั่งคนกันเองยังทำกันได้ลงคอ
ครั้งนั้น ปฎิพัทธ์ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะหันมายึดอาชีพเกษตรกรอยู่ยังบ้านเกิดของตัวเอง
ที่จังหวัดสุรินทร์
ปฏิพัทธ์ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสมัชชาคนจนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐
โดยเป็นตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดสุรินทร์
โดยได้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มองค์กรเรื่อยมา
และมุ่งมั่นพัฒนาเส้นทางอาชีพเกษตรกรให้ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ดี
ในช่วงแรกของการทำเกษตรกรรมนั้น
เขายังคงใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกจำพวกปุ๋ยและสารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต
การที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมบ่อยครั้ง รวมทั้งการทัศนศึกษาดูงานยังสถานที่ต่างๆ
ทำให้ปฎิพัทธ์ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน
ถึงแนวทางการจัดการแปลง และการเพิ่มผลผลิต
ซึ่งได้แนวทางมาจากทฤษฎีเกษตรพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้
..มีพอที่จะใช้
ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง..
เป็นไปตามที่เค้าเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง...แต่ว่าพอเพียงนี้
มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ
ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอใจในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย
เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนผู้อื่นน้อย..
ปฎิพัทธ์
ได้เริ่มปฏิบัติตามขั้นตอนทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยผืนที่ นาที่เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือปลูกข้าวอย่างเดียว จำนวน ๑๒ ไร่
ถูกแบ่งสันปันส่วนดังนี้
พื้นที่จำนวน ๒ ไร่
ส่วนหนึ่งได้ทำการขุดสระสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี
รวมถึงเป็นแหล่งอาหารสำหรับครอบครัว โดยมีปลาหลากชนิดอยู่ในสระ นอกจากนี้
ยังมีแปลงสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวอยู่รอบๆ สระ เช่นหอม กระเทียม
ถั่วฟักยาว พริก มะเขือ ฯลฯ
ซึ่งเป็นพืชสวนครัวพื้นฐานที่ไม่จำเป็นต้องซื้อหามาบริโภค
ทั้งยังมีไม้ผลอื่นๆ อาทิ มะพร้าว ฝรั่ง มะกอกน้ำ กล้วย มะละกอ ฯลฯ
เป็นต้น
ส่วนพื้นที่อีก ๑๐
ไร่นั้น ใช้สำหรับปลูกข้าวปลอดสารเคมี
ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการบริโภคในแต่ละปี
และยังเหลือผลผลิตไว้ขายได้ราคาที่สูงกว่าข้าวที่ปลูกด้วยการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี
การพัฒนาผลผลิตในแปลงนั้นปฎิพัทธ์ พึ่งพาปัจจัยจากภายนอกน้อยมาก
โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่างๆ นั้น เขาไม่ได้นำมาใช้เลย
เมื่อหมดฤดูทำนา
หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ผืนนาก็ไม่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า
ได้ถูกแปรสภาพเป็นไร่ถั่วพร้า เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและรักษาสภาพดินไว้
และเมื่อถั่วพร้าโตเต็มที่ ก็เก็บผลผลิตนำขาย
ส่วนลำต้นนั้นก็ถูกไถกลบกลายเป็นปุ๋ยพืชสดสำหรับปลูกข้าวในปีถัดไป
เส้นทางเกษตรกรของปฎิพัทธ์
เป็นเส้นทางที่ดูเหมือนจะสวนกระแสกับคนหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน
หากแต่ว่าเป็นเส้นทางที่เขาคิดว่ามั่นคงยิ่งนักหากเลือกเดินเส้นทางนี้
และยึดเอาแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ตั้ง
การพัฒนา
เศรษฐกิจแบบพอเพียง สำหรับเกษตรกรนั้น มีการปฏิบัติตามขั้นตอนทฤษฎีใหม่
ซึ่งประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน คือ
๑.ผลิตเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ในระดับชีวิตที่ประหยัด
ทั้งนี้ต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น
๒.รวมกลุ่มเพื่อการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม
และศาสนา ๓ ร่วมมือกับองค์กรภายนอกในการทำธุรกิจแลพัฒนาคุณภาพชีวิต
ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องได้ผลประโยชน์
ทุกวันนี้ ปฎิพัทธ์และครอบครัวไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากภายนอกมากนัก
เพราะผลผลิตที่ได้จากการลงมือปฏิบัตินั้นสามารถหมุนเวียนเป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี
เว้นเสียแต่ว่าต้องการบริโภคอาหารที่แปลกต่างไปบ้างในบางครั้งคราว
นอกจากนี้แล้ว ปฎิพัทธ์ยังเข้าร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่ยึดแนวทางพระราชดำริเกษตรพอเพียงและการทำนาข้าวปลอดสารเคมี
มีการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เป็นนิจ
ประการสำคัญคือ
เขาได้เป็นตัวแทนของกลุ่มเกษตรในจังหวัดสุรินทร์
ที่เข้าร่วมกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเรียนรู้เทคนิคและวิธีการใหม่ๆ
ทางวิชาการเพื่อพัฒนาและเพิ่มผลผลิตให้กับตนเอง
และนำความรู้มาถ่ายทอดให้กับเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เช่น การทำปุ๋ยหมัก
การทำน้ำหมักชีวภาพ การเผาถ่านโดยใช้ถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตร
และการทำน้ำส้มควันสำหรับใช้กับแปลงพืชผักสวนครัวและไม้ผล
ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงไปได้มาก
ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ปฎิพัทธ์ยังมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรเพื่อนบ้านต่างประเทศยังประเทศมาเลเซียอีกด้วย
จากการที่ได้ลงมือทำในรูปแบบพึ่งตนเองให้มากที่สุด และตั้งใจไว้ว่า
อยากให้ผืนนาของตัวเองเป็นป่าให้ร่มเงาเวลาเดินดูผลผลิต
และคืนความชุ่มชื้นให้กับธรรมชาติ
และวันนี้ผลผลิตที่ได้มากกว่ารายจ่ายที่ออกไป นั่นหมายถึงการมีเงินเก็บ
โดยไม่ต้องออกไปใช้แรงงานข้างนอก ดังเช่นที่หลายคนเป็นอยู่
เหล่านี้ ล้วนเกิดจากความตั้งใจ
ความทุ่มเทให้กับอาชีพเกษตรกรและยึดแนวทางพระราชดำริ
เกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจแบบพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ล้นเกล้าฯ ของชาวไทย
แม้เส้นทางยังอีกยาวไกล และด้วยวัย ๓๕ ปี กับพื้นที่เพียง ๑๒ ไร่ ปฎิพัทธ์
ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากตั้งใจย่อมประสบผลสำเร็จแน่นอน.
ตัวอย่างเกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์
ที่ยึดแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" |
|
|
|
Homepage |